สพฐ. ชื่นชม สศศ. ติดอาวุธคุณภาพ พร้อมเสริมใจนำทาง ดูแลนักเรียนพิเศษอย่างเชี่ยวชาญ

วันที่ 22 เมษายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการเป็นประธานเปิดและบรรยายเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพ บุคลากรครู เพื่อผู้เรียน สังกัดสํานักบริหารงานการศึกษาพิเศษ” ในการสัมมนาวิชาการ ในหลักสูตรการฝึกอบรมครูด้านการสอนคนพิการ พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 3 ประจําปี 2565 สังกัด สศศ. สพฐ. รุ่นที่ 1 ณ อิงธาร รีสอร์ท จังหวัดนครนายก เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยมีผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วย ผอ.สศศ. ผอ.สถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด สศศ. รอง ผอ.สถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง พี่เลี้ยงเด็กพิการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 631 คน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) พบว่าหน่วยงานภายนอกชื่นชมและศรัทธา สศศ. เป็นอย่างมาก ในเรื่องการอุทิศตน เสียสละ อบรมดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี จึงต้องช่วยกันสานต่อความศรัทธาให้เพิ่มพูน และต่อยอดความชื่นชมให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งในการจัดการศึกษาเพื่อผู้เรียนที่มีความไม่พร้อมในด้านต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากร เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนการสอน การประเมินเพื่อพัฒนาหลากหลายวิธี ตลอดจนสร้างพัฒนาการอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้บริบทของสถานศึกษาสังกัด สศศ. ทุกแห่งที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องตระหนักเสมอว่า “เราต้องสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง นักเรียนทุกคนต้องมีโอกาสได้เรียนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน และต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับอย่างเต็มที่ และการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงต้องมีการวางแผนงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับในการเติมพัฒนาการให้กับเด็กทั้งด้านการศึกษา วิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต พร้อมทั้งปลูกฝังบ่มเพาะให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนเก่งคนดีและมีความสุขการดำเนินชีวิตเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องมีความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ เข้าถึงเด็กที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละความบกพร่อง จึงเป็นเหตุให้บุคลากรในสังกัด สศศ. ทุกคน มีหน้าที่เพิ่มเติมมากกว่าการสอน คือ การพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ในเรื่องของสื่อหรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีก็ต้องมีคุณภาพ เพื่อยกระดับศักยภาพในการรับรู้ และทำให้นักเรียนมีพัฒนาการเพิ่มยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานจากภายนอกและเครือข่ายต่างๆ ร่วมสนับสนุนในทุกด้าน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สวทช. ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงต้องเข้าใจในหลักของการเลือกสื่อให้มีความเหมาะสมกับนักเรียนเป็นรายบุคคล และควรใช้สื่อหรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายเพื่อให้การเรียนการสอนเกิดความดึงดูด ความสนใจ และสร้างการรับรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“ทั้งนี้ ขอชื่นชมผู้บริหารและบุคลากร สถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด สศศ. ทุกแห่งที่ทำงานอย่างทุ่มเทเสียสละ มุ่งมั่นพัฒนาดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการ “ทำมากกว่าหน้าที่ แต่ทำด้วยหัวใจที่นำทาง” โดยร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนานักเรียนให้เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกคนที่รับฟังอย่างตั้งใจ และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะนำสิ่งที่ได้รับฟังไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว