สพฐ. ยกระดับการศึกษาอย่างเข้ม เน้นพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลในระดับชั้นเรียน

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์และครูแกนนำระดับเขตพื้นที่การศึกษา ด้านการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 รุ่นที่ 1 สำหรับศึกษานิเทศก์และครูแกนนำระดับเขตพื้นที่การศึกษา ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นางณัฐพร พรกุณา ผู้อำนวยการกลุ่มประเมินคุณภาพการศึกษา สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ดร.รวงทอง ถาพันธุ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ดร.ธีรยุทธ ภูเขา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.อุทัยธานี เขต 2 ดร.อิทธิฤทธิ์ พงษ์ปิยะรัตน์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.ลพบุรี เขต 1 ดร.รักษ์ศิริ จิตอารีย์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.น่าน เขต 2 ร่วมเป็นวิทยากรหลัก พร้อมด้วยทีมวิทยากร ศึกษานิเทศก์ ครูแกนนำ และนักวิชาการศึกษา เข้าร่วมการประชุม

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้การพัฒนาบุคลากรแกนนำระดับเขตพื้นที่การศึกษาในด้านการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) จึงได้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Application Zoom แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว การพัฒนาศักยภาพด้านการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) จึงได้ปรับเปลี่ยนมาดำเนินการจัดในรูปแบบ On-site ซึ่งเป็นหลักสูตรการอบรมแบบเข้ม (Intensive Training) โดยเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (On the job training) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการเรียนรู้ตามหลักสูตร แนวทางการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)  แนวทางการสร้างเครื่องมือในการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย ตลอดจนแนวทางการวิเคราะห์ผลการประเมินเพื่อนำไปใช้วางแผนการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลและปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนของครูผู้สอนจากทีมวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และได้ฝึกปฏิบัติในการออกแบบการเรียนรู้และการสร้างเครื่องมือในลักษณะของการฝึกปฏิบัติตามภาระงานที่รับผิดชอบ โดยมีทีมวิทยากรเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา ตลอดจนมีการฝึกวิพากษ์และปรับแก้เครื่องมือวัดและประเมินผลให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม หลักสูตรดังกล่าวจะสามารถขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ให้มีความรู้ ความสามารถ พร้อมรับการประเมินเพื่อพัฒนาสมรรถนะได้ตรงจุด ตรงตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน ซึ่งประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียน ออกแบบการจัดการเรียนรู้ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย และนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อไป

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ในการที่ผู้เรียนจะมีคุณภาพสอดคล้องกับเป้าหมายที่สำคัญตามหลักสูตรแกนกลางฯตามที่เราต้องการนั้น เราสามารถสร้างเวทีหรือออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานภายใต้การนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูผู้สอนจะต้องพิจารณารายละเอียดความพร้อมของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อเติมศักยภาพ ดึงให้เต็ม เติมให้ถึง สิ่งที่สำคัญคือการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่ทำให้รู้เพียงว่าอยู่ลำดับเท่าใด แต่จะต้องเป็นการสะท้อนผลที่ต้องเติมและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดให้ผู้เรียน ดังนั้นการวัดและประเมินผลควรดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดและความสนใจ สิ่งที่จะชี้ชัดคุณภาพทางวิชาการ และทักษะอื่นๆ ได้ดีที่สุด คือกระบวนการที่จะทำให้เด็กได้มีส่วนที่จะคิด ปฏิบัติผ่านการลงมือทำ สื่อสาร ทำความเข้าใจ และต่อยอดจนถึงการได้คิดสร้างสรรค์ตามบริบท และเนื้อหา หรือสิ่งที่ได้รับมา ตามความถนัดหรือความสนใจของแต่ละคน

“นอกจากนั้น เมื่อเราได้ได้ฟังผู้เรียนได้ตอบคำถามและอธิบาย เราจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า “ผู้เรียนมีสมรรถนะสำคัญหรือไม่” โดยพิจารณาจากกระบวนการคิดของผู้เรียนที่นำไปสู่ความเป็นเหตุและผลของคำตอบ และพิจารณาว่า ผู้เรียนตอบด้วยความรู้สึกหรือตอบตามข้อเท็จจริง และมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ดีหรือไม่ ฯลฯ สิ่งที่แฝงอยู่ในคำตอบของผู้เรียนเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกฝนที่แตกต่างกัน รวมถึงบริบทของผู้เรียนในแต่ละคนด้วย ครูจึงต้องมีทักษะการประเมินเพื่อการเรียนรู้ เพื่อค้นหาสิ่งที่ขาดและเติมเต็มให้แก่ผู้เรียน ควบคู่กับการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ และแสดงความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ หากเราสามารถเสริมเติมทักษะที่จำเป็นให้ครูมีความพร้อมนำไปพัฒนาผู้เรียน ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพผู้เรียนทั้งระบบอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ด้านนางณัฐพร พรกุณา ผอ.กลุ่มประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายและจุดเน้น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้มีการพัฒนาครูในด้านการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักทดสอบทางการศึกษา จึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาศักยภาพด้านการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้ดำเนินกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ 1. การสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้แก่บุคลากรแกนนำระดับเขตพื้นที่การศึกษา 2. ส่งเสริมสนับสนับสนุนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการสื่อสารสร้างความใจและกำกับติดตามสถานศึกษาในการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และ 3.คัดเลือกสถานศึกษาที่มีการปฏิบัติเป็นเลิศ (Best Practice) ในการดำเนินการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง

ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์และครูแกนนำระดับเขตพื้นที่การศึกษาด้านการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีกำหนดจัดขึ้นจำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 สำหรับศึกษานิเทศก์และครูแกนนำ ภาคเหนือและภาคกลาง ระหว่างวันที่ 10–12 พฤษภาคม 2566 จำนวน 254 คน และรุ่นที่ 2 สำหรับศึกษานิเทศก์และครูแกนนำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ระหว่างวันที่ 18–20 พฤษภาคม 2566 จำนวน 236 คน รวมทั้งสิ้น 490 คน