สพฐ. จัดอบรมครูแกนนำและบุคลากรทางการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา “โครงการโรงเรียนสุขใจ ปลอดภัยโรคซึมเศร้า”

วันที่ 10 มิถุนายน 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ครูแกนนำและบุคลากรทางการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ภายใต้โครงการโรงเรียนสุขใจ ปลอดภัยโรคซึมเศร้า โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ ภิรมย์รัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 นายอนันต์ศักดิ์ ภูพลผัน ผู้อำนวยการสานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 2 เข้าร่วม ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพมหานคร

นายธีร์ กล่าวว่า สถานการณ์เด็กในปัจจุบันที่มีภาวะเป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมาก เพราะฉะนั้นครูและบุคลากรทางการทุกคนต้องทบทวนและเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจในการดูแลเด็กนักเรียนให้ครบทุกมิติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กนักเรียนในสถานศึกษา และคุณภาพชีวิตของเด็กที่จะเป็นทรัพยากรของประเทศ ฉะนั้นบุคลากรในฝ่ายการศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเด็กนักเรียนให้มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ

“สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ซึ่งในอนาคตทางศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. จะเชื่อมโยงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นระบบเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อให้สามารถติดตามการให้การช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างเป็นระบบและใกล้ชิดมายิ่งขึ้น รวมถึงให้การช่วยเหลือโรงเรียนเพื่อที่จะรับมือกับเรื่องต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ร่วมกับ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการโรงเรียนสุขใจ ปลอดภัยโรคซึมเศร้า ในครั้งนี้ ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นกลุ่มแกนนำให้สามารถที่จะรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียนรวมถึงจะมีการเก็บข้อมูลวิจัยเพื่อให้สามารถขยายผลโครงการไปสู่โรงเรียนอื่นทั่วประเทศ โดยในส่วนของกิจกรรมในโครงการนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาแกนนำจะได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งประกอบไปด้วย ความรู้เกี่ยวกับภาวะอารมณ์เศร้า และโรคซึมเศร้า ทักษะการฟัง อย่างตั้งใจ ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ ระบบ Demo และระบบแผนเผชิญเหตุ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้และทักษะที่จำเป็นที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรับรู้เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับมือและช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะโรคซึมเศร้าเบื้องต้น