สพฐ. ร่วมมือ มูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ และบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งครอบครัวนักเรียน บุคลากร สศศ.

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (ผอ.สศศ.) ร่วมประชุมหารือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลงานนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ร่วมกับ คุณสัณจุทา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ และผู้แทนบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) โดยมีผู้บริหารโรงเรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

โดยในที่ประชุม นายเจษฎา ชนะเดช รองผู้อำนวยการ รักษาราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเยาววิทย์ จังหวัดพังงา ได้นำเสนอข้อมูลของโรงเรียน และผลการดำเนินงานโครงการฐานการเรียนรู้สู่อาชีพ ซึ่งมีฐานการเรียนรู้การปลูกผักปลอดภัยไร้ดิน ด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ และนำผลผลิตที่ได้เข้าสู่ครัวโรงเรียน เพื่อจัดทำอาหาร ฐานการเรียนรู้ผักสวนครัวริมรั้วเยาววิทย์ ฐานการเรียนรู้แพะนม โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย ฐานการเรียนรู้ไก่ไข่ ฐานการเรียนรู้ปลาน้ำจืด นอกจากนี้ยังมีการยกระดับการพัฒนาจากฐานการเรียนรู้สู่แหล่งเรียนรู้ชุมชน โดยเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนสำหรับการศึกษาดูงาน

จากนั้น คุณสัณจุทา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) ว่าเป็นองค์กรที่เน้นองค์ความรู้ ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ ด้านการเกษตรแบบอินทรีย์วิถีไทย ตามแนวทางและกระบวนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสำหรับผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และการรักษาคุณภาพมาตรฐานสู่ท้องตลาด มุ่งเน้นการทำให้กระบวนการผลิตพืช ผัก และผลไม้ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ เป็นการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นฐานของอินทรีย์วิถีไทย และศาสตร์พระราชา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานขยายผลสู่ชุมชนมากมายทั่วประเทศ และจัดช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ศูนย์การค้าไอคอนสยามและเครือเซ็นทรัล มีการสร้างอาชีพให้กับคนบกพร่องทางการมองเห็น ทางการเคลื่อนไหว ทางสติปัญญา และออทิสติก จนสามารถต่อยอดงานด้วยตัวเขาเอง หารายได้สู่ครอบครัวที่ยั่งยืน และเน้นย้ำว่าผลผลิตต่างๆ จากเกษตรต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Earth-safe

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวว่า สถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เองก็มีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว จึงขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการดำเนินงานเพื่อวางแผน วิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ จัดประเภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ การออกแบบ Packaging การมองตลาดที่นำไปสู่ความสำเร็จ และประเมินความเสี่ยงด้วยโดยการวิเคราะห์การปลูกพืชในที่ที่น้ำท่วมบ่อย ควรทำแบบผักยกแคร่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ต้องมีการเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และทำอย่างไรให้อาชีพติดตัวนักเรียน นอกจากนี้สถานศึกษาใดที่มีพื้นที่ หรือมีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว และต้องการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ก็ต้องกำหนดผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวอย่างการดำเนินงานของโรงเรียนเยาววิทย์ จังหวัดพังงา ทำให้เห็นกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยไม่เป็นภาระของครู และนักเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้ตามหลักสูตรและประเมินผลตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีกระบวนการทำ 9 ขั้น มีครบทั้งการวางแผน การวิเคราะห์ การปฏิบัติ การมองไปข้างหน้าในการเตรียม การแปรรูป การแก้ปัญหา การตลาด การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีเพื่อการดำเนินการ และสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน คือ การที่ไม่มีสารอันตรายตกค้างในการบริโภค เพราะพืช ผัก หรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นไม่ได้ใช้สารเคมีเลย ซึ่งดีต่อสุขภาพของตนเอง และครอบครัว พร้อมทั้งมีองค์ความรู้ ส่งต่อตลาดที่ได้มาตรฐาน เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ขณะที่ นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สศศ. ได้เปิดเผยถึงกำหนดกิจกรรมและแผนงานของ สศศ. ประกอบด้วย 1.การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานวางแผน วิเคราะห์และกำกับติดตาม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลงานนักเรียนในสถานศึกษา สังกัด สศศ. 2.จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลงานนักเรียนในสถานศึกษา สังกัด สศศ. โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ศูนย์การศึกษาพิเศษ และโรงเรียนในสังกัด สศศ. ทั่วประเทศ 3.จัดประชุมชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สศศ. ได้รู้จักการดำเนินงานของมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) และเห็นภาพความสำเร็จ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สศศ. 4.กำหนดปฏิทินการลงพื้นที่ศึกษาผลการดำเนินงานของโรงเรียนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดงานและพัฒนางาน จำนวน 8 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนเยาววิทย์ จังหวัดพังงา 2) โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ 3) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน 4) โรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล 5) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล 6) โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกูล 7) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา และ 8) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 50 จังหวัดขอนแก่น 5.กำหนดวันเวลาและสถานที่ศึกษาดูงานจากมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ โดยสามารถไปดูได้หลายสถานที่ในสถานศึกษาเดียวกัน ตามความต้องการไม่จำกัด โดยผู้อำนวยการ และครูผู้รับผิดชอบ

พร้อมกันนั้น สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะประกาศเชิญชวนนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สศศ. ให้เข้าร่วมการประกวดชื่อแบรนด์สินค้า และเชิญคุณสัณจุฑา จิราธิวัฒน์ และคณะฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อพัฒนาและให้คำแนะนำการจัดทำการออกแบบแพกเกจจิ้ง (Packaging Design) ให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป