ศธ. ชู 4 กลยุทธ์สําคัญแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืนผนึกกำลังสถาบันการเงินภาครัฐ-เอกชน จัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในภาคใต้

กระทรวงศึกษาธิการ ผนึกกำลังสถาบันการเงินชั้นนำ หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน แก้ปัญหาหนี้สินครูภาคใต้ ที่สุราษฎร์ธานี ชู 4 กลยุทธ์ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบอย่างยั่งยืน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี / นายนิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 4 ภาคใต้ ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหาร ศธ. สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ-เอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับและเข้าร่วม
นายนิรุตติ สุทธินนท์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นปัญหาสําคัญที่เรื้อรังมานาน จําเป็นต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบแบบต่อเนื่องและเร่งด่วน เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ตลอดจนขวัญกําลังใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศมาเป็นเวลานาน
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลการจัดการศึกษาทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้ให้ความสําคัญและพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดําเนินการต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2564 อาทิ จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ 558 แห่ง ทั้งยังเจรจาสถาบันการเงินเพื่อขอชะลอการฟ้องร้องลูกหนี้ครูกว่า 25,000 ราย อีกทั้งขอลดดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ จํานวน 108 แห่ง ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ประกาศลดดอกเบี้ยกว่า 70 แห่ง ตั้งแต่ 0.5 -1 % พร้อมขอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศช่วยดําเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 12,000 ราย รวมยอดหนี้กว่า 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีการจัดอบรมวินัยทางการเงิน หลักสูตร “ครูไทย หัวใจพอเพียง” มีผู้สมัครเข้าร่วมแล้ว 118,000 คน ตลอดจนจัดทํา (ร่าง) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยนโยบายการจัดสวัสดิการภายในเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีเงินเดือนคงเหลือหลังจากหักยอดหนี้แล้วเกิน 30 %
ที่สำคัญ ศธ.ได้กําหนดกลยุทธ์สําคัญเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างยั่งยืน 4 กลยุทธ์ ได้แก่
1.พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลหนี้ครู (Management Information System), จัดกลุ่มลูกหนี้ครูตามสถานะและเชื่อมโยงฐานข้อมูลหนี้ครูทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤตครูบํานาญ, กลุ่มผู้ค้ำประกันครูบํานาญ, ลูกหนี้ครูในระบบ (เงินเหลือน้อยกว่า 30%), ลูกหนี้ในระบบ (สถานะปกติ) และครูในระบบที่ไม่มีหนี้
2.บริหารจัดการแบบพุ่งเป้า (Targeted management) อาทิ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, ปรับโครงสร้างหนี้, ชะลอการฟ้องร้องดําเนินคดี, จัดหา soft loan (แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ)
3.พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อสร้างความแข็งแรงสหกรณ์ออมทรัพย์ครู (Support System) ทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน และสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วยกัน
4.สร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) โดยจัดงบประมาณการใช้เงินในหมวดหมู่ต่าง ๆ การใช้เงินต่อเงิน การลงทุน การกู้ยืม ภาษี และการบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนตัวในภาพรวม

สำหรับการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” ที่กรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค โดยความร่วมมือของ ศธ.และสถาบันการเงินชั้นนําของประเทศไทย รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ เพื่อให้ครูได้มีพื้นที่สําหรับเจรจาขอไกล่เกลี่ยหนี้สินตลอดจนเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งการจัดงานทุกครั้งที่ผ่านมานั้นได้รับผลตอบรับจากครูและบุคลากรทางการศึกษาและประสบความสําเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งการเข้ามาขอรับการไกล่เกลี่ยหนี้สินและการขอเข้ารับคําปรึกษาด้านการบริหารหนี้ การจัดการการเงินการลงทุน โดยมีผู้ได้รับการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมหกรรมฯ แล้วกว่า 1,000 ราย คิดเป็นยอดหนี้กว่า 1,200 ล้านบาท รวมทั้งมีผู้ได้รับคําปรึกษาการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกว่า 5,400 ราย
“สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดําเนินงานที่ ศธ.และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงยั่งยืน สามารถดํารงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูต่อยอดสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนไทยที่จะเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลสําคัญที่เพียบพร้อมไปด้วยศักยภาพ ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 สามารถเป็นผู้นําในการนําพาประเทศไทยให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป”
นายสุทิน แก้วพนา กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งจัดไปแล้ว 3 ครั้ง เริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 1,830 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 626 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 785 ล้านบาท ต่อด้วยครั้งที่ 2 ภาคตะวันออก ที่จังหวัดสระแก้ว ระหว่างวันที่  11 – 12 มีนาคม 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 1,986 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 143 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 175 ล้านบาท และล่าสุดครั้งที่ 3 ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 17 – 18 มีนาคม 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 2,134 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 199 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 274 ล้านบาท
สำหรับการจัดงานภาคใต้ ครั้งที่ 4 มีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาหนี้สินได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การไกล่เกลี่ยกรณีถูกฟ้องร้องดำเนินคดี (หนี้วิกฤต / NPL), การปรับโครงสร้างหนี้, การวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงิน, การอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน และนิทรรศการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญจะได้รับการผ่อนปรนและสิทธิพิเศษจากสถาบันการเงิน
โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมจัดกิจกรรม ได้แก่ 1) กระทรวงการคลัง 2) กระทรวงยุติธรรม 3) กรมส่งเสริมสหกรณ์ 4) ธนาคารแห่งประเทศไทย 5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 6) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 7) บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด 8) สมาคมธนาคารไทย 9) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ 10) ธนาคารออมสิน 11) ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ 12) ธนาคารกรุงไทย 13) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 14) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 15) กองทุนการออมแห่งชาติ และ 16) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ พังงา และจังหวัดระนอง
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม: กระทรวงศึกษาธิการ โทร. 02-628-5634-36