สพฐ. วางรากฐานการพัฒนาทุกช่วงวัยมุ่งสมรรถนะตอบความฉลาดรู้ เตรียมพร้อมประเมิน PISA 2025

วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษในการประชุม “สพฐ. Kick Off ขับเคลื่อนการพัฒนาความฉลาดรู้ และเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA 2025” จุดที่ 1 ณ จังหวัดตรัง ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตรัง กระบี่ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษาฝ่ายวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย จำนวน 44 โรงเรียน รวมจำนวน 300 คน
.
การประชุมครั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจแนวทางการพัฒนาความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA 2025 โดยสามารถวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ด้านการอ่านของผู้เรียนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล และสามารถดำเนินการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลเพื่อยกระดับความฉลาดรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบการจัดประชุม ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อนการพัฒนาความฉลาดรู้เพื่อเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA 2025” โดย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. และการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาความฉลาดรู้ ในหัวข้อต่างๆ อาทิ “ข้อเสนอแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดยใช้องค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA” โดย นายธงชัย ชิวปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิ สบว. “การพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูงโดยใช้เทคนิคบันได 6 ขั้น” โดย นางสาวดวงใจ บุญยะภาส ผอ.สถาบันภาษาไทย สวก. “เครื่องมือประเมินสมรรถนะความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA” โดย นางสาวณัฐา เพชรธนู เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน : ถอดบทเรียนที่เป็นเลิศจากกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาผู้เรียนและเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA ผ่านกระบวนการบริหารงานวิชาการ การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลในระดับชั้นเรียนและสถานศึกษา มีผู้เสวนา ประกอบด้วย นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาราชการแทน ผอ.สทศ. นางสาวณัฐา เพชรธนู ผอ.ศูนย์ PISA สพฐ. นางกรวิกา ฉินนานนท์ ผอ.กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล สพม.ตรัง กระบี่ นายสันติ นาดี ผอ.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช และ นางสาวสินีนาฏ ธรรมชาติ รอง ผอ.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล รวมถึงการจัดนิทรรศการ แนวทางการขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA 2025 ของสถานศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนที่มาจัดนิทรรศการ และยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาความฉลาดรู้ และเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA 2025 โดย นางกรวิภา ฉินนานนท์ ผอ.กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา และคณะศึกษานิเทศก์ จาก สพม.ตรัง กระบี่ อีกด้วย
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมในความตั้งใจและเห็นความสำคัญในเป้าหมายเดียวกันคือคุณภาพนักเรียน ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเริ่มจาก ประตูแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองของนักเรียนตามช่วงวัยจากการอ่าน เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียน ได้ดำเนินการวางแผนการเป็นพี่เลี้ยงอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นที่เข้มแข็งและเครือข่ายความร่วมมือที่ร่วมกันเพื่อให้การดำเนินการนี้ลงสู่ทั้งกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลโดยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของนักเรียนในทุกวัยเพื่อให้เกิดความคุ้นชิน ในการฝึกคิด จับประเด็น อ่านรู้เรื่อง แยกแยะได้ รวมทั้งแสวงหาความรู้ เพื่อจัดระบบทางความคิด นำข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และสื่อสารด้วยวิธีการต่างๆที่นำไปสู่การนำไปใช้ได้จริง โดยจะมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมด้านการอ่านของแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม มีความสุขกับการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะความฉลาดรู้สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีและนำไปสู่การเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ และโอกาสนี้ขอชื่นชมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันภาษาไทย สวก.สพฐ. ที่สร้างสื่อ แบบฝึกการพัฒนากระบวนการอ่านด้วยบันได 6 ขั้นสู่การอ่านจับใจความ รวมถึงศูนย์ PISA สทศ.สพฐ. ในการขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมมาโดยตลอด
.
“ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนสิ่งที่มีคุณค่าต่อคุณภาพนักเรียนที่ยั่งยืนและสร้างสังคมนักคิด นักสื่อสารที่สร้างสรรค์ มีเหตุผล นักสร้าง นักปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองชอบ เกิดประโยชน์ต่อสังคมที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต เป้าหมายที่ชัดเจนและหวังผลความสำเร็จจึงต้องมีการกำหนดบทบาทผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน PISA ลงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ทั้งในระดับเขตพื้นที่และสถานศึกษาให้ชัดเจน เพื่อให้การทำงานมีระบบและเกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นที่การพัฒนาความสามารถด้านการอ่านตามช่วงวัยผ่านการฝึกอ่านอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำข้อสอบตามแนวทาง PISA ซึ่งเน้นการอ่านบทความที่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆรอบตัวในลักษณะบูรณาการในรูปแบบโจทย์ยาวและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีความสุขในการอ่านจนเกิดความคุ้นชินและติดเป็นนิสัย จึงได้มีการมอบหมายให้โรงเรียนในกลุ่มวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนแกนนำในการขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมขยายผลเพื่อทุกโรงเรียนได้มีนักเรียนพร้อมด้วยสมรรถนะ และผลพลอยได้คือ การรับประเมิน PISA อย่างมั่นใจต่อไปในอนาคต” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว