เลขาธิการฯ ธนุ กำชับพื้นที่ ติดตามเหตุแผ่นดินไหวเกิดซ้ำ เผยครูนักเรียนปลอดภัย แม่นแผนเผชิญเหตุ

ตามที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของไทย ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร ในช่วงเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 โดยรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในพื้นที่หลายจังหวัดภาคเหนือ รวมถึง กรุงเทพมหานคร นั้น

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า “ทันทีที่เกิดเหตุ ได้รับรายงานจากศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และกรุงเทพมหานคร ว่า ในหลายพื้นที่ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตรวจสอบที่โรงเรียนเมืองขอน อำเภอสันทราย และโรงเรียนวัดหนองออน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าโครงสร้างอาคารเรียนได้รับความเสียหาย เสาอาคารมีการแตกร้าว นอกจากนี้ อาคารเรียนของโรงเรียนอีก 28 โรง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ได้รับความเสียหายเล็กน้อยแต่ไม่กระทบโครงสร้างอาคาร เช่น กระจกหน้าต่างแตก ผนังอาคารมีรอยร้าว ฝ้าเพดานแบบ T-Bar และกระเบื้องหลังคาหลุดร่วง อย่างไรก็ตาม ครูและนักเรียนทุกคนปลอดภัยดี”

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อว่า “ได้มอบหมายรองเลขาธิการ กพฐ. (นายธีร์ ภวังคนันท์) และผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. และเขตพื้นที่ เร่งลงพื้นที่ในทันที เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารเรียน โดยให้ดำเนินการร่วมกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ประกาศปิดการใช้อาคารเรียนที่โครงสร้างได้รับความเสียหาย และกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ติดตามการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ (After Shock) อย่างใกล้ชิด รายงานสถานการณ์และพร้อมดูแลช่วยเหลือครูนักเรียน ตลอด 24 ชั่วโมง”

“ขอชื่นชม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ที่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนแผนเผชิญเหตุ กรณีเกิดแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่า นอกจากโรงเรียนมีการเตรียมแผนการป้องกันและรับมืออย่างรอบคอบแล้ว ยังมีการสร้างความรู้ความเข้าใจ ซักซ้อม จนครูและนักเรียนสามารถปฏิบัติตนได้รอดปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุ เช่นหลายโรงเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 ที่นักเรียน แม้เป็นเด็กประถม แต่ก็รู้ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ถ้าไม่สามารถออกไปยังพื้นที่โล่งแจ้งได้ ให้อยู่ในพื้นที่ที่แข็งแรง ปลอดภัย เช่นใต้โต๊ะนักเรียน เพื่อป้องกันสิ่งของที่อาจตกหล่นมาทับ หรือ โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่แม้อยู่ไกลจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว แต่สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ ก็สามารถอพยพนักเรียนออกจากอาคารเรียนที่เป็นตึกสูงไปสู่จุดรวมพลได้อย่างเรียบร้อย ปลอดภัย ตามมาตรการที่ได้ฝึกซ้อมไว้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว