วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมแถลงข่าวการยกระดับสมรรถนะและความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทย สร้างฐานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนานาชาติ และตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 สถาบันการศึกษาภาษาอังกฤษ อีเอฟ เอดูเคชันเฟิสต์ (EF Education First) ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษ EF FPI (EF English Proficiency Index) ประจำปี 2023 ซึ่งเป็นการวัดคะแนนการทดสอบจากการวัด ความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้ใหญ่ ในปี 2022 ได้จัดอันดับทั้งหมด 113 ประเทศทั่วโลก ผลการสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของผู้ใหญ่ (อายุเฉลี่ย 26-30 ปี) จำนวนผู้เข้าสอบ 836 คน ปี 2023 ที่จัดโดยสถาบันดังกล่าว ประเทศไทยได้คะแนนเป็นอันดับที่ 101 น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน นั้น
.
ขอเรียนว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาความสามารถภาษาอังกฤษของไทยนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศใช้มาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษ ตามกรอบมาตรฐาน CEFR เป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน คือ มาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาที่สหภาพยุโรป จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และการประเมินภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นมาตรฐานในการจัดลำดับความสามารถทางภาษาของแต่ละบุคคล ในระดับสากล โดยกระทรวงศึกษาธิการ ใช้กรอบมาตรฐานภาษาอังกฤษดังกล่าว ในการวัดระดับเชิงสมรรถนะ ความสามารถทางภาษาของผู้เรียน ทั้ง 4 ทักษะ คือการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของการจ้างครูต่างชาติ ซึ่งมีการสนับสนุนงบประมาณการจ้างครูภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น และโรงเรียนใน สพฐ. มีการเพิ่มห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
.
ทั้งนี้ รัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความห่วงใยในการยกระดับสมรรถนะ ความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทย มายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่มิได้นิ่งนอนใจในการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ สู่การมีงานทำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ศึกษาแนวทางการเรียนรู้ภาษาที่หลากหลาย เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งต้องใช้การบูรณาการ ร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยแนวทางที่ตั้งใจจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม คือการจัดทำคลังข้อสอบวัดระดับเชิงสมรรถนะความสามารถทางภาษาอังกฤษ จัดหาข้อสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษตามกรอบ รวมถึงสนับสนุนการสอบวัดระดับของนักเรียน ครูและบุคลากร ทางการศึกษา ประชากรในวัยเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะมีการกำหนดเป็นคูปองการเรียนรู้เสริมทักษะภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ที่มีอาชีพในด้านการให้บริการ อาทิ ธุรกิจ โรงแรม ร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สนองต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
.
“เราเชื่อว่าภาษาอังกฤษจะถูกใช้ในการสื่อสารและประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง โดยองค์ความรู้จากกระทรวงศึกษาธิการถือว่ามีความพร้อมในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลเพื่อยกระดับสมรรถนะคนไทยต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ” รมว.ศธ. กล่าว
- สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการลูกเสือดิจิทัล เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน - 18 กรกฎาคม 2024
- สพฐ. ขับเคลื่อนการจัดการศึกษามัธยมศึกษาสู่ สพม. เครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัด และโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 - 25 เมษายน 2024
- รองเลขาธิการ กพฐ. “ธีร์” ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th Asia – Pacific Regional Scout Leaders Summit, 2024) - 24 เมษายน 2024