เสมา 2 จับมือ สพฐ. ลงพื้นที่กระบี่ ย้ำโรงเรียนต้องปลอดภัย อาหารกลางวันต้องได้คุณภาพ พร้อมเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต่อเนื่อง

วันที่ 21 มกราคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยนายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. และผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงผู้บริหารประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะ โดยมี นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดกระบี่ ครูและนักเรียน ให้การต้อนรับ
.
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ พบว่า สถานศึกษาในจังหวัดกระบี่ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีจำนวน 277 แห่ง มีนักเรียน นักศึกษา 86,715 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 4,620 คน ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ก็ได้เห็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การพัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ เป็นต้น ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่บูรณาการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี
.
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ คือเรื่องของการดําเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโปรแกรม Thai School Lunch อยู่แล้ว เป็นระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้การออกแบบอาหารมื้อกลางวันเหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย โดยเราจะกําชับอย่างเคร่งครัดว่าในการทําอาหารกลางวันแต่ละมื้อจะต้องอิงจากเมนูในโปรแกรม Thai School Lunch ที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการและสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ซึ่งต่อไปเราจะทำเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้ถ่ายรูปอาหารที่ทำเสร็จแล้วของแต่ละโรงเรียนรายงานส่งมาที่เขตพื้นที่การศึกษา โดยจะให้เขตพื้นที่การศึกษาคอยเป็นฝ่ายช่วยมอนิเตอร์ในเรื่องอาหารกลางวันด้วย
.
นอกจากนั้น ก็มีเรื่องของการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ใน 2 เรื่อง ประเด็นที่ 1 คือเรื่องการนำหลักสูตรการต่อต้านทุจริตมาสอนให้กับนักเรียน ซึ่งมีความสําคัญ เป็นรากฐานที่ดีในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ปลูกฝังการต่อต้านทุจริต รวมถึงความรู้เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนและงานพัสดุ โดยจะมี สำนักงาน ป.ป.ช. ของแต่ละจังหวัดคอยเป็นพี่เลี้ยงให้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด และประเด็นที่ 2 คือเรื่องภัยคุกคามจากภายนอก ที่คุณครูเวรโดนทําร้ายในโรงเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือให้ฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน เข้ามาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการจะทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเน้นย้ำกระทรวงมหาดไทย ส่งไปถึงฝ่ายปกครองต่าง ๆ ให้ช่วยดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น
.
“ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทุกคดีที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด โดยสถานศึกษาต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย ซึ่งต่อไปหากมีการบรรจุนักการภารโรงเพิ่มเข้ามา ก็จะช่วยดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง และกระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดที่จะยกศูนย์ความปลอดภัย ศธ. ขึ้นมาเป็นสำนักความปลอดภัย เพื่อให้มีทั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละเขตพื้นที่ก็จะรีบเข้าไปตรวจสอบ ดูแล และรับเรื่องร้องเรียน มีบุคลากรที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ และมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานต่อไป“ รมช.ศธ. กล่าว
.
ด้านนายภูธร กล่าวว่า ในส่วนของ สพฐ. นั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้ตนร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โดยเน้นย้ำในเรื่องของการขับเคลื่อนงานตามนโยบายที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ได้ให้ไว้ทั้งในเรื่องโครงการอาหารกลางวัน และเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยเฉพาะความปลอดภัยของนักเรียนและครู ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอาคารหรือสถานที่ แต่ยังมีเรื่องความปลอดภัยที่มาจากภายนอก เช่นกรณีที่ครูเวรถูกทำร้าย หรือแม้แต่ปัญหายาเสพติดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งทางเลขาธิการ กพฐ. มีความห่วงใยนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้กำชับให้ผู้บริหารเขตพื้นที่และผู้บริหารสถานศึกษา ได้เฝ้าระวังและมีแผนเผชิญเหตุเตรียมพร้อมอยู่เสมอ รวมทั้งตรวจตราการเข้า-ออกของบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในโรงเรียน พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน ในการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดด้วย เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ให้นักเรียนและครูมาโรงเรียนได้อย่างอุ่นใจทุกวัน