เสมา 2 พร้อม สพฐ. เยี่ยมโรงเรียนอนุบาลพังงา ย้ำอาหารกลางวันนักเรียนต้องถูกหลักโภชนาการ พร้อม “เรียนดี มีความสุข” ทั่วถึงและเท่าเทียม

วันที่ 22 มกราคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนอนุบาลพังงา จ.พังงา เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยนายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงผู้บริหารประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะ โดยมี นายบัญชา ธนูอิทร์ ปลัดจังหวัดพังงา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพังงา ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดพังงา ครูและนักเรียน ให้การต้อนรับ

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่ จ.พังงา ในวันนี้ ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่บูรณาการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ในโอกาสนี้ได้เน้นย้ำนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ทั้งในเรื่องของการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพัฒนาวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง โอน ย้ายของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนา ที่ตรงกับความประสงค์ของตนเอง เน้นการพิจารณาด้วยความโปร่งใส และไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม

ส่วนในเรื่องของการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ต้องเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงการจัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียน ต่อ 1 อำเภอ โดยพัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานทางวิชาชีพ (Skill Certificate) เมื่อเรียนจบ ผู้เรียนสามารถรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ มีการจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย และให้ผู้เรียนเรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn To Earn)

“อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องอาหารกลางวันนักเรียน เราได้เน้นย้ำเรื่องการออกแบบเมนูอาหารโดยอิงจากโปรแกรม Thai School Lunch ที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย และสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ นอกจากนี้ พบว่ามีหลาย ๆ โรงเรียน รวมถึงโรงเรียนอนุบาลพังงาที่ได้มาเยี่ยมในวันนี้ด้วย ประสบปัญหาเรื่องการไม่มีโรงอาหาร นักเรียนต้องนำอาหารขึ้นไปทานบนห้องเรียนซึ่งต้องเดินขึ้นหลายชั้น โดยตนจะนำไปเสนอกับกระทรวงศึกษาธิการ  และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อพิจารณาในเรื่องของความสำคัญจำเป็น และขอความอนุเคราะห์สำนักงบประมาณด้วย เพราะโรงอาหารสำหรับนักเรียนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรมีอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะมีการทำหนังสือไปที่สำนักงบประมาณ เรื่อง การขอเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้แก่เด็ก ชั้น ม.1-ม.3 ในโรงเรียนขยายโอกาส โดยจะพยายามให้ทันภายในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2567 นี้“ รมช.ศธ. กล่าว

ด้านนายภูธร กล่าวว่า ในส่วนของ สพฐ. นั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้ตนร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โดยเน้นย้ำในเรื่องของการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. อย่างเช่นเรื่องอาหารกลางวันนักเรียนที่ รมช.ศธ. ได้กล่าวถึง ทาง สพฐ. ก็ได้กำชับทุกโรงเรียนที่ต้องดูแลเรื่องอาหาร ทั้งโรงเรียนประถมศึกษาที่ต้องดูแลอาหารกลางวัน และโรงเรียนอยู่ประจำพักนอนที่ต้องดูแลอาหารทั้ง 3 มื้อให้กับนักเรียน ต้องจัดอาหารให้มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ และปริมาณเพียงพอกินอิ่มทุกคน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่สามารถทำได้ดี ถูกต้องตามหลักโภชนาการ แต่ยังมีบางส่วนที่ยังขาดตกบกพร่อง ซึ่งทาง สพฐ. จะดำเนินการตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะเรื่องโภชนาการอาหารนักเรียน เป็นนโยบายและข้อสั่งการของ รมว.ศธ. ที่ได้กำชับว่าเรื่องเหล่านี้ต้องไม่มีการทุจริต หรือหาผลประโยชน์จากนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องโครงการอาหารกลางวัน หรือนมโรงเรียน เพราะส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของนักเรียน ถ้าเด็กได้กินอาหารอิ่ม ก็จะเรียนได้ดี มีความสุข จึงได้กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ให้ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด