สพฐ. จับมือภาคีเครือข่ายพัฒนาโรงเรียนคุณภาพจังหวัดนนทบุรี

วันที่ 31 มกราคม 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) โดยมีผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีลงนาม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ 

การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี มีโรงเรียนในสังกัดที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” จำนวน 6 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมทุกรูปแบบ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้นในครั้งนี้ โดยมี ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. พันตำรวจเอก ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมลงนาม 

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย กระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” โดยกำหนดนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยนำร่องการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถดึงดูดให้โรงเรียนเครือข่ายมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาโดยการคัดเลือกจังหวัดนนทบุรีให้เป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีบริบทใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่จะบูรณาการความร่วมมือ ในการส่งเสริมเติมเต็มให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาครบตามองค์ประกอบ ใน 5 ด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน ด้านผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านผู้เรียน ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา

“ท้ายที่สุดแล้ว โรงเรียนคุณภาพจะสามารถดึงดูดโรงเรียนเครือข่ายใกล้เคียงให้มาเรียนรวมและใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงสามารถสกัดนักเรียนที่จะไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมแข่งขันสูงในตัวจังหวัด ให้ได้เรียนในโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอใกล้บ้าน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ปกครองในโรงเรียนคุณภาพในภาพรวม นําไปสู่ผลลัพธ์สุดท้าย ที่กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังไว้ คือ “โรงเรียนคุณภาพได้รับความนิยม เป็นโรงเรียนนานาชาติของชุมชน” นอกจากนี้ ภาพความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรีในอนาคต จะสามารถขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า ด้วยนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้กำหนดนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” โดยเน้นการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง เกิดความเท่าเทียม สร้างความเสมอภาคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงาน รองรับกรอบการพัฒนาการศึกษาตามแนวนโยบายดังกล่าว และกำหนดนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ต้องการลดภาระครูและนักเรียน ข้อ 4 โครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” และได้มีการคัดเลือกโรงเรียนคุณภาพ เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความพร้อมสามารถให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และเอื้อต่อการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์รวมหรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน วัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม สนับสนุนงบประมาณ อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น ศรัทธา และส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การสร้างสรรค์ ผู้ปกครองมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยโรงเรียนและชุมชนสามารถจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ เพื่อบริการและเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชน วัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพนำไปสู่ภาพความสำเร็จของโรงเรียนตามนโยบายฯ

“จากความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้ง 4 หน่วยงานจะบูรณาการร่วมกัน ในการจัดสรรงบประมาณ จัดสรรครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้เกณฑ์พิเศษ หรืองบประมาณสนับสนุนครูอัตราจ้างเพิ่มเติมในวิชาเอกที่ขาดแคลน สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สื่อ อุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดให้มีการศึกษาเพื่อการมีงานทำ จัดการศึกษาระบบทวิภาคีในรูปแบบการเรียนรู้คู่การทำงานให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ส่งผลให้โรงเรียนและชุมชนสามารถจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ เชื่อมความสัมพันธ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น บ้าน (ครอบครัว) ผู้นำทางศาสนา และโรงเรียน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว