สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

ภายหลังการประชุมดังกล่าว นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องสำรวจและสรุปข้อมูลหนี้สิน แยกประเภทเป็นหนี้วิกฤติ ใกล้วิกฤติ และปกติ เพื่อจะได้รวบรวมสรุปผลในภาพรวมนำเสนอในที่ประชุมฯ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำโปรแกรมออนไลน์ “ระบบแก้หนี้ สพฐ. (debt obec)” สำหรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ในสังกัด สพฐ.

ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เป็นเอกภาพและสามารถรวบรวมข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับจำนวนหนี้ให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลกำหนดนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้ สพฐ. จัดทำระบบลงทะเบียนในภาพรวม โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบว่าขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ครูไม่ให้เกิน 4.75 % ของจำนวนเงินกู้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูประมาณ 17 แห่ง อีกทั้งขอให้มีการรวมหนี้ของแต่ละสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วย เพื่อเกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ขณะเดียวกันพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ยังได้มีหนังสือสั่งการกำชับให้หน่วยงานในสังกัด ศธ. ที่รับผิดชอบการหักเงินเดือนของข้าราชการครูต้องทำตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ปี 2551 ซึ่งข้าราชการจะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากพักชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 30% อย่างเคร่งครัดด้วย และหนังสือลงนามยินยอมให้หักเงินเดือนจะต้องเขียนระบุให้ชัดเจนตามระเบียบ ศธ. ฉบับดังกล่าว ไม่ใช่เขียนเปิดช่องไว้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะหากมีการหักเงินเดือนเกินตามระเบียบนี้จะถือว่าเจ้าหน้าที่มีความผิด รวมถึงได้แจ้งให้เขตพื้นที่หรือหน่วยราชการสังกัด ศธ. ทราบว่า จากนี้ไปหากมีกรณีครูที่ถูกฟ้องร้องล้มละลายไม่ถือว่าเป็นเรื่องทุจริต เนื่องจากการถูกฟ้องร้องล้มล้ายจากหนี้สินไม่ต้องออกจากราชการด้วย เพราะได้รับทราบว่าครูมีความกังวลกับเรื่องนี้