สพฐ. ประชุมขับเคลื่อนโครงการ โรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ”

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนโครงการ โรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” โดยมี นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนคุณภาพ ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณภาพ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ และระบบประชุมทางไกล Zoom Cloud Meeting

รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ) มีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพประเทศด้วยการศึกษา มุ่งจัดการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ให้เกิดการจัดการศึกษา ที่มีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมี เป้าหมายพัฒนาศักยภาพของคน ในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีวินัย มีทักษะชีวิต มีคุณธรรมจริยธรรม พร้อมเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ สถานศึกษาต้องมีความพร้อมในด้านงบประมาณ บุคลากร แหล่งเรียนรู้ สื่อ สถานที่ เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่สถานศึกษาทุกแห่ง 29,251 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ในพื้นที่ที่แตกต่างกันให้พร้อมรอบด้าน จึงเป็นที่มาของ “โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) โดยได้คัดเลือกโรงเรียน อำเภอละ 2 แห่ง (ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) รวม 1,808 แห่ง เพื่อพัฒนาให้เป็น “โรงเรียนนานาชาติของชุมชน”

โดย สพฐ. พร้อมสนับสนุนให้โรงเรียนคุณภาพ มีความพร้อมเชิงกายภาพ มีโครงสร้างพื้นฐาน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ สื่อ ที่พร้อมใช้ เพียงพอ ทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ ทั้ง มิติบุคลากร ผู้บริหาร เป็นผู้นำวิชาการ พร้อมสร้างเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ ครูผู้สอน มีจำนวนเพียงพอ ตรงตามวิชาเอก มีครู ICT และภาษาต่างประเทศ สร้างให้ผู้เรียน “เรียนดีมีความสุข” มีความรู้ ทักษะ จนโรงเรียนสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ของพื้นที่มีโรงเรียนขนาดเล็กร่วมเป็นเครือข่าย ร่วมใช้ทรัพยากรการเรียนรู้ แบ่งปันองค์ความรู้ สื่อ อุปกรณ์การสอน เทคโนโลยี แบ่งปันครูที่ดี ครูที่เก่ง สร้างความมั่นใจ อุ่นใจให้แก่ผู้ปกครองที่จะช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เข้าถึงเด็กทุกคนอย่างแท้จริง พร้อมเป็นประชากรคุณภาพต่อไป