สพฐ. ประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา และคณะทำงาน เข้าร่วม ผ่านระบบประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meeting

สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งเป็นแนวคิดการสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาภายใต้บริบทความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบันที่สนับสนุนทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการบริหารให้กับสถานศึกษา ซึ่งเป็นส่วนขยายของโรงเรียนประชารัฐ โดยทุกฝ่ายได้เข้าใจตรงกันและมีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ การสร้างอาชีพและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน กิจกรรมของโครงการฯ จึงมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถผลิตผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถในด้านอาชีพและมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม และชุมชนตามบริบทของตนเอง

โดยนำกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับวิสาหกิจเพื่อสังคมมาขับเคลื่อนในโรงเรียนของโครงการฯ เพื่อให้ระบบนิเวศการเรียนรู้ และระบบนิเวศของการพัฒนาคุณภาพสังคมสอดคล้องเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน กิจกรรมหลักของโครงการ ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายผู้สนับสนุนโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการสนับสนุนอาชีพและศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน การพัฒนาต้นแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา การพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ภาคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) การพัฒนานักนวัตกรสร้างสรรค์วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprise innovator) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีพื้นที่เป็นฐาน

ทั้งนี้ ได้พิจารณาโรงเรียนเป้าหมายในการพัฒนา เริ่มจากโรงเรียนนำร่องในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ตามการวิจัยแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัดตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้วิเคราะห์โรงเรียนในกลุ่มมีความพร้อมที่จะพัฒนา โดยมี โรงเรียนร่วมพัฒนาในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 24 โรงเรียน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 10 เขต เข้าร่วม เป็นโรงเรียนนำร่อง เพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาที่เป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นต่อไป