รมว.ศธ. ตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET ม.3 ชมจัดการดี ตรวจข้อสอบออนไลน์ ประหยัด-รวดเร็ว

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นางศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายชนาธิป ทุ้ยเเป ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมสนามสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 ณ สนามสอบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบ 383 คน เป็นการทดสอบด้วยรูปแบบกระดาษ (Paper Pencil) โดยมี นายจิณณภัทร พิบูลวิทิตธำรง ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครูให้การต้อนรับ

.

 สำหรับการทดสอบ O-NET ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในภาพรวมระดับประเทศในปีนี้ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบ 475,375 คน แบ่งเป็น การทดสอบด้วยแบบทดสอบ (Paper Pencil) ผู้มีสิทธิ์สอบ 463,655 คน มีสนามสอบ 4,151 สนาม และมีห้องสอบ 17,261 ห้อง และการทดสอบด้วยระบบการทดสอบดิจิทัล (Digital Testing) ผู้มีสิทธิ์สอบ 11,720 คน มีสนามสอบ 190 สนาม และมีห้องสอบ 403 ห้อง สำหรับวิชาที่สอบ มีจำนวน 4 วิชา ประกอบด้วย 1) ภาษาไทย มีจำนวนข้อสอบ 30 ข้อ เป็นรูปแบบปรนัย 29 ข้อ และอัตนัย จำนวน 1 ข้อ โดยอัตนัยเน้นการวัดมาตรฐานความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ การจับใจความสำคัญ การเชื่อมโยงความคิด การวิเคราะห์จุดมุ่งหมายของบทอ่านพร้อมระบุสิ่งที่ผู้เขียนต้องการ และการแสดงความคิดเห็นของบทอ่านพร้อมยกเหตุผลสนับสนุน 2) คณิตศาสตร์ มีจำนวนข้อสอบ 20 ข้อ เป็นรูปแบบปรนัย 16 ข้อ และรูปแบบระบายตัวเลขคำตอบ 4 ข้อ 3) วิทยาศาสตร์ มีจำนวนข้อสอบ 35 ข้อ เป็นรูปแบบปรนัย 32 ข้อ และรูปแบบเลือกตอบเชิงซ้อน 3 ข้อ และ 4) ภาษาอังกฤษ มีจำนวนข้อสอบ 32 ข้อ เป็นรูปแบบปรนัยทั้งหมด

.

ทั้งนี้ สทศ. ได้ดำเนินการตามพันธกิจซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการและนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยพัฒนาระบบการตรวจข้อสอบอัตนัยในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ลดระยะเวลาในการดำเนินการตรวจ ประหยัดค่าใช้จ่าย การตรวจข้อสอบมีประสิทธิภาพ ผลคะแนนที่ได้มีความถูกต้องแม่นยำ ครูผู้ตรวจสามารถทำงานได้ทุกที่ภายใต้มาตรฐานการทดสอบ ภายหลังประกาศผลการทดสอบ สทศ. ได้จัดทำรายงานข้อค้นพบจากการทดสอบ O-NET ด้วยข้อสอบอัตนัยเผยแพร่ทางเว็บไซต์ สทศ. เพื่อให้โรงเรียน นักเรียน และผู้ที่สนใจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการทดสอบ และเป็นการส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยด้านการอ่านและการเขียน ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนภาษาไทย 

.

นอกจากนี้ สทศ. ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลการทดสอบ O-NET ไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน โดยจัดการอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ในรูปแบบ Online และ Onsite เน้นให้ความรู้ พาคิด พาทำการวิเคราะห์ผังการสร้างแบบทดสอบ การวิเคราะห์ข้อสอบ การสร้างข้อสอบที่มีคุณภาพ และการนำข้อมูลสารสนเทศจากใบรายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมทั้งมีระบบการทดสอบออนไลน์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาบน Web Application ที่สามารถรองรับการแสดงผลบนหน้าจอในอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน และรองรับการทดสอบบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย เพื่อให้บริการนักเรียนและผู้ที่สนใจได้ทดสอบวัดความรู้ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา เพื่อให้ทราบถึงจุดเด่น จุดที่ต้องพัฒนา และสามารถนำมาวางแผนการเรียนในอนาคตได้ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://onettesting.niets.or.th/ และ สทศ. ยังมีระบบการอบรมการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ สำหรับการสร้างข้อสอบบนระบบ National Digital Testing Platform 17 รูปแบบ เพื่อให้ผู้รับการอบรมนำไปประยุกต์ใช้ในการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  https://niets.e-learning.froggenius.com/

.

ทั้งนี้ จะมีการประกาศผลสอบในวันที่ 28 มีนาคม 2567 โดยได้จัดทำรายงานผลการทดสอบ O-NET และข้อมูลสารสนเทศแบบรายบุคคล ระดับโรงเรียน ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ระดับสำนักงานศึกษาธิการภาค ระดับสังกัด และระดับประเทศ รวมถึงรายงานข้อค้นพบที่ได้จากการตรวจข้อสอบอัตนัย สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.niets.or.th