สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดป้ายโรงเรียนโมโกรวิทยาคม ณ จังหวัดตาก

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดป้ายโรงเรียนโมโกรวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายนพพร แสงอาทิตย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนตามพระราชดำริและโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารการศึกษา ประชาชน ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ณ โรงเรียนโมโกรวิทยาคม  อำเภออุ้มผาง  จังหวัดตาก

โรงเรียนโมโกรวิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลโมโกร จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี และหมู่บ้านใกล้เคียง ได้เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ในระยะแรกเปิดเป็นห้องเรียนสาขา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมและขอใช้อาคารเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนชั่วคราว จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 22 คนและพระราชทานอาหารกลางวันในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562

.

ต่อมาในปี 2563 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตากและสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ตาก) ได้เห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่กลองและอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จำนวน 48 ไร่เศษ เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนและจัดสรรงบประมาณสร้างโรงเรียน ปัจจุบันเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 5 มีนักเรียน 243 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 15 คน โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ดำเนินงานเพียง 4 ด้าน ส่วนปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคในโรงเรียน ใช้ประปาภูเขาในการทำการเกษตร และใช้น้ำบาดาลในการอุปโภคบริโภค

จากนั้นทอดพระเนตรการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย และการอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและม้ง จึงมีปัญหาการออกเสียงภาษาไทย ทางโรงเรียนได้แก้ไขด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ในระดับชั้นมัธยมศึกษา มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมชัดถ้อยชัดคำ กิจกรรมเขียนตามคำบอก กิจกรรมการอ่านทำนองเสนาะ และกิจกรรมร้องเพลงลูกทุ่ง ส่งผลให้นักเรียนออกเสียงภาษาไทยชัดขึ้น โดยได้รับรางวัลเหรียญทองร้องเพลงลูกทุ่ง จากการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับพื้นที่เขตการศึกษา เมื่อปี 2567  ส่วนการใช้สื่อพระราชทาน และสื่อ 65 พรรษา พบว่า มีประโยชน์มาก ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงสื่อที่ทันสมัยและสวยงาม กิจกรรมฝึกอาชีพ สอนให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำน้ำพริกคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นอาหารประจำถิ่นของอำเภออุ้มผาง นิยมรับประทานในช่วงที่เกิดสงครามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ /นอกจากนี้สอนวิชาช่างเชื่อมโลหะ เนื่องจากในพื้นที่ยังขาดแคลนช่าง ทำให้นักเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้

.

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ปลูกพืชผักสวนครัว เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงเป็ด ไก่ หมูและปลา เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน ทำให้นักเรียนมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส ได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ / นอกจากนี้ได้ทอดพระเนตรการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ซี่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ และกิจกรรมการเรียนรู้นวัตกรรมเรื่องการเขียนบอร์ดทดลอง AIOT (อ่านเอ-ไอ-โอ-ที) เป็นบอร์ดทดลองทางด้านระบบสมองกลฝังตัว ฝึกการคิดเชิงตรรกะ ความคิดเชิงออกแบบเพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  เช่น การทำระบบสมาร์ท ฟาร์ม และการสร้างชิ้นงาน 3 มิติ มีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้ามาสนับสนุนและจัดการเรียนการสอน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงเยี่ยมราษฎรตำบลแม่กลองคี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ มีอาชีพเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ พสกนิกรต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ขอบคุณ ภาพ/ข่าว : สพม.ตาก