สพฐ. จับมือนักศึกษา วปอ. ปลูกความเป็นไทยในหัวใจเยาวชน เน้นเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เชื่อมโยง Soft Power

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม อบรมครูผู้สอนรายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้แนวคิด “1 โรงเรียน 1 Soft Power สู่การจัดการเรียนรู้เชิงรุก” โดยมี นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 หมู่ช้าง คณะผู้บริหารและคณะครู สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 เข้าร่วม ณ อาคาร CW Tower  กรุงเทพมหานคร

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ได้มอบแนวทางให้มีการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้ทันสมัย ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่าง ๆ สนับสนุนให้ใช้ สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา Anytime Anywhere

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญโดยกำหนดให้รายวิชาประวัติศาสตร์ เป็นรายวิชาพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักว่า ทุกเรื่องราว มีที่มาที่ไป เหตุการณ์ในอดีต ส่งผลสู่ปัจจุบัน และเป็นปัจจัยสู่อนาคต นอกจากนี้ ยังให้ทุกโรงเรียนให้ความสำคัญประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งมีคุณค่า และมีมูลค่า สามารถใช้ต่อยอดเป็น Soft Power ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เช่น แฟชั่น ภาพยนตร์ อาหาร กีฬา เทศกาลการท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างแบรนด์ของคนไทยในเวทีระดับโลก

“ครูผู้สอนเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการสอนวิชาประวัติศาสตร์ จึงขอให้คุณครูเป็นผู้เปิดกว้างทางความคิด เรียนรู้สิ่งใหม่ ศึกษาความสนใจของผู้เรียนและเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม สร้างสรรค์ เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย เพื่อผู้เรียนจะสามารถเข้าใจบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อเป็นฐานสู่การต่อยอดความสำเร็จในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว