สพฐ. ปรับเกณฑ์แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 พร้อมชู Soft Power แห่งชาติ

วันที่ 4 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการปรับปรุงเกณฑ์การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567 และออกแบบกิจกรรมส่งเสริมพหุปัญญาด้านกีฬาและนันทนาการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และ Soft Power ครั้งที่ 2 เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา พร้อมด้วยนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Soft Power แห่งชาติกับแนวทางในการดำเนินโครงการ” โดยมีนางวรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน  พร้อมคณะทำงานเข้าร่วม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพหานคร

.

จากนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนโยบายทางการศึกษาหลายประการ และนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองถือเป็นนโยบายสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับมาปฏิบัติ โดยกำหนดแนวทางให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด สำหรับการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความชำนาญ ตามความสนใจ และความถนัด สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์และบริบททางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน  จึงเห็นสมควรปรับปรุงแนวทางและเกณฑ์การแข่งขันให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับ Soft Power แห่งชาติเพื่อให้เป็นที่แพร่หลายต่อไป

.

นอกจากนี้ ในปี 2567 เป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมพรรษา 72 พรรษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ตลอดจนบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้แสดงความจงรักภักดี ในรูปแบบการนำเสนอผลงานและกิจกรรมนักเรียนในวโรกาสดังกล่าว

.

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวข้างต้น จัดโดยสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน  พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ประจำภาควิชาต่าง ๆ  ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ฯ รวมทั้งสิ้น 75 คน