พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2567

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2567 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงพระดำเนินไปยังชานหน้าพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนรุ่ง และทรงจุดเทียนพระราชทานเพื่อเชิญไปถวายเจ้าอาวาสจุดบูชาพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงที่ทรงพระราชอุทิศไว้ แล้วทรงนำสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย แล้วเสด็จพระราชดำเนิน
ประทักษิณพระอุโบสถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ครบถ้วนจำนวนสามรอบตามพิธีการ
.
โอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายให้นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าเฝ้าฯ ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2567 พร้อมหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ
.
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทางจันทรคติ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนถือเป็นประเพณีสำคัญในการบำเพ็ญกุศล ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ พุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัย และเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ วันคล้ายวัน “ประสูติ” ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ “ตรัสรู้” เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วยพระบริสุทธิคุณและพระปัญญาคุณ ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลกแก่ชนทั้งปวงโดยพระมหากรุณาธิคุณ จวบจนทรง “เสด็จดับขันธปรินิพพาน” ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน