สพฐ. จับมือ สอศ. เดินหน้าเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษา


วันที่ 14 มิถุนายน 2562 นายสุเทพ ชิตยวงษ์เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการอาชีวศึกษา” พร้อมมอบนโยบายการเชื่อมโยงการศึกษาระดับ สพฐ. กับระดับ สอศ. เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทย โดยมี นายสุรชัย มณีประกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับ และนายอรรถพล สังขวาสี ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ กล่าวรายงาน รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด หอการค้าจังหวัด และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมอัมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก ชมคลิปกิจกรรม

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อบูรณาการการทำงานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้การจัดการศึกษาระหว่างระดับอาชีวศึกษา กับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเชื่อมโยงกันทั้งด้านการบริหาร ข้อมูล การเรียนการสอน การแนะแนวสายอาชีพ ความร่วมมือการจัดทวิศึกษา มีการบูรณาการเชิงบริหาร บูรณาการการเรียนการสอน และมีความเป็นเอกภาพน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่าง สพฐ. กับ สอศ. โดยในบันทึกข้อตกลงระหว่าง สพฐ. และ สอศ. ได้มอบหมายให้มีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการอาชีวศึกษา ในวันนี้จึงได้มาประชุมร่วมกันเพื่อมอบนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนให้เป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หน่วยงานการศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 250 คน

สำหรับการเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนากำลังคนให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งในส่วนของ สพฐ. ได้มีการส่งเสริมการเรียนสายอาชีพของนักเรียนด้วยโครงการสานฝันอาชีพเด็กไทยก้าวไกลสู่สากล เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ค้นพบตัวเอง โดย สพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขับเคลื่อนงานแนะแนวเพื่อการศึกษาต่อและการมีงานทำ โดยสถานศึกษาจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้รู้จักและค้นพบตัวเองผ่านการเรียนการสอนเสริมทักษะอาชีพที่หลากหลาย อาทิ การบูรณาการในรายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ รายวิชาเพิ่มเติมแบบ Block Course และ Shopping Course กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และโครงงานอาชีพ เป็นต้น รวมทั้งการจัดกิจกรรมแนะแนวและให้นักเรียนได้ทำแบบวัดแวว วัดความถนัดทางอาชีพ และสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพ รวมถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพที่นำไปสู่การวางเส้นทางการศึกษาต่อ หรือการประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

“สพฐ. เล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนงานแนะแนวเพื่อการศึกษาต่อและการมีงานทำอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ค้นพบตัวเอง สามารถวางแผนการศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทางสายสามัญและสายอาชีพอย่างมีเป้าหมาย และสามารถนำทักษะอาชีพเบื้องต้นที่ตกผลึกในตัวไปประยุกต์ใช้ในการประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเองได้ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขณะที่นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กอศ. เสนอแนวคิดว่าการทำงานในครั้งนี้จะต้องใช้สะพานเชื่อมโยง 5 สาย เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จระหว่าง สพฐ. กับ สอศ. ได้แก่ สะพานที่ 1 สะพานของฝ่ายบริหาร ที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหาร สพฐ. ส่วนกลาง กับผู้บริหาร สอศ. หรือระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนกับผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะ และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษากับผู้อำนวยการเขตในแต่ละจังหวัด สะพานที่ 2 คือสะพานเชื่อมโยงระหว่างครูกับครู สะพานที่ 3 ให้เด็กเชื่อมโยงกันระหว่างเด็กกับเด็ก สะพานที่ 4 คือผู้ปกครองกับผู้ปกครองต้องเชื่อมโยงกัน มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อทำให้เกิดทัศนคติที่ดี มีความเชื่อมั่นว่าเด็กที่มีโอกาสได้เรียนสายอาชีพตั้งแต่ต้นจะได้ค้นพบตัวตน เน้นสมรรถนะมากกว่าวิชาการอย่างเดียว และสะพานที่ 5 คือการเชื่อมโยงกับชุมชน ซึ่งการเรียนในวิทยาลัยหรือในโรงเรียนอาจจะเรียนทางทฤษฎีมากกว่า จึงต้องเชื่อมโยงกับชุมชนหรือสถานประกอบการต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการเสวนาเรื่อง “ความต้องการกำลังคนกับการเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษา” โดย นายบรรจง ดีเหลือ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และนายวิรัช ตั้งประดิษฐ์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 รวมถึงการบรรยาย “การจัดทำหลักสูตรเชื่อมโยงการศึกษาสายอาชีพ” โดย ดร.เกษศิรินทร์ สุวรรณสุนทร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว สํานักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. และนายสมศักดิ์ เลิศรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสรรทวิทยาคม และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 38 นอกจากนั้นยังมีการเสวนาโมเดลการเชื่อมโยงการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ ได้แก่ พิษณุโลกโมเดล และสุพรรณบุรีโมเดล และแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการจัดทำหลักสูตรพื้นฐานโดยแบ่งตามภูมิภาค เพื่อสรุปแนวทางในการขับเคลื่อนให้เป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

อัจฉรา ข่าว