สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการทดลองใช้แนวทางและเครื่องมือวัดแววผู้มีความสามารถพิเศษ ระดับประถมศึกษา ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของโรงเรียนกลุ่มทดลอง


วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) บรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการทดลองใช้แนวทางและเครื่องมือวัดแววผู้มีความสามารถพิเศษ ระดับประถมศึกษา ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของโรงเรียนกลุ่มทดลอง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และนำร่องทดลองใช้ระบบสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษ ระดับประถมศึกษา แก่ครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ในโรงเรียนกลุ่มทดลองนำร่อง โดยจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 19 – 23 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมฮิป รัชดา กรุงเทพมหานคร

นายพีระ รัตนวิจิตร (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ระบบสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษฯ นี้ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อวัดแววความสามารถพิเศษของเด็กในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ ศิลปะ/มิติสัมพันธ์ การได้ยิน การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ สังคมและอารมณ์ โดยจะเป็นฐานข้อมูลสะท้อนว่าเด็กมีความสามารถในด้านไหนที่จะต้องพัฒนาศักยภาพต่อยอดต่อไป ซึ่งจะตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน

ทั้งนี้ประเทศของเรากำลังจะก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยการที่จะพัฒนาประเทศต่อไปนั้น จะต้องอาศัยทักษะวิชาชีพเฉพาะในหลาย ๆ สาขา อีกทั้งเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายตัดสินใจเลือกเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะประเทศของเรายังขาดแรงงานระดับอาชีวศึกษาจำนวนมาก โดยระบบสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษฯ นี้ นอกจากจะเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมให้ตรงตามความถนัดของเด็กเพื่อเป็นพื้นฐานอาชีพในทุกสาขาแล้ว ยังสามารถเป็นประโยชน์กับทางมหาวิทยาลัยในการพิจารณาเปิดหลักสูตรเพื่อรองรับความต้องการในการเรียนของนักเรียน รวมถึงใช้เปรียบเทียบความต้องการด้านแรงงานภายในประเทศในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย

“โดย สพฐ. จะมีการนำร่องทดลองใช้ระบบในโรงเรียนกลุ่มทดลอง ระดับประถมศึกษา จำนวน 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ โรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ โรงเรียนอนุบาลชลบุรี โรงเรียนอนุบาลระยอง โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี โรงเรียนอนุบาลบ้านนา (วัดช้าง) โรงเรียนอนุบาลจรูญลองรัตนาคาร และโรงเรียนอนุบาลอุทัยธานี ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อยอดสู่โรงเรียนระดับประถมศึกษาอื่น ๆ ต่อไป” นายพีระ รัตนวิจิตร (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าว

ภาพ : ชุติมา
ข่าว : ฐิติมา