สพฐ. จัดประชุมพัฒนาการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยเทคนิคเวทคณิต”

วันที่ 27 ตุลาคม 2561 นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการพัฒนาการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย (เวทคณิต) เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิคเวทคณิตให้มีความเข้มข้น ลุ่มลึก และเป็นสากลยิ่งขึ้น โดยมี นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ นักวิชาการศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกว่า 60 คน ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดเลขหลักแสน หลักล้าน ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเช่นเดียวกับอินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่องการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบนโยบายให้ สพฐ. ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์และสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง และพบว่าการคิดเลขเร็วแบบอินเดียโดยใช้เทคนิคเวทคณิต เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนคิดเลขได้เร็ว ถูกต้องตามหลักคณิตศาสตร์ พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ มีเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ และสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาหรือหลักการทางคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันได้ สพฐ. จึงได้นำเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย (เวทคณิต) มาใช้ในการพัฒนาทักษะการคิดคำนวณของนักเรียน ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 – ม.3 โดยได้จัดทำคู่มือเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย (เวทคณิต) และดำเนินการขยายผลอบรมวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แนวทางของเวทคณิตแก่ศึกษานิเทศก์และครูผู้สอนคณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย (เวทคณิต) ให้มีความเข้มข้น ลุ่มลึก และเป็นสากลยิ่งขึ้น สพฐ. จึงได้จัดการประชุมปฏิบัติการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย (เวทคณิต) ขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย (เวทคณิต) ระหว่างคณะวิทยากรจากสาธารณรัฐอินเดียและบุคลากรของ สพฐ. โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสังเคราะห์องค์ความรู้สำหรับนำไปใช้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนเวทคณิตในห้องเรียน เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาผู้เรียนที่มีความโดดเด่นทางคณิตศาสตร์ไปสู่เวทีการแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับชาติ

“เวทคณิตไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่เป็นเทคนิคที่มีจุดเด่นอยู่ที่การคิดเร็วคิดได้ไว และยังมีความลึกซึ้งทั้งในวิชาเลขคณิตพีชคณิตแคลคูลัส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการนำมาพัฒนา แน่นอนว่ามีทั้งคนที่สนใจและไม่สนใจ แต่นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการคือการไม่ปิดกั้นการศึกษา ถ้าเราสามารถทำได้ก็ควรจะทำ เพราะมันเป็นประโยชน์กับนักเรียน เป็นอารยธรรมที่ลึกซึ้งและมีมานาน ซึ่งแนวทางในการสอนก็มีการพัฒนามาเป็นระยะ โดยล่าสุด สพฐ. ได้ส่งคณะครูไปเรียนโดยตรงที่ประเทศอินเดีย และมีความพยายามหลายครั้งที่จะพาคณะครูจากอินเดียมาที่ไทย อย่างเช่นในครั้งนี้ที่ทางสถานทูตไทยและอินเดียได้มีการประสานงานติดต่อให้ ซึ่งคณะครูของอินเดียมีการเตรียมตัวมาอย่างดี เขามาสอนและประเมินให้เรา ส่วนเราเองก็ประเมินเขาเช่นกัน จากนั้นจึงมาวางแผนระยะยาวร่วมกัน โดยดูถึงความเข้ากันได้และดูว่าสามารถพัฒนาร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ เป้าหมายคือเราต้องการพัฒนาให้เป็นระบบโดยสร้างคนกลุ่มนี้เป็นแม่ข่ายเหมือนกับโครงการ Boot Camp ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ การสร้างกลุ่มคนที่มีความสนใจและมีพลังในการพัฒนา เพื่อจะได้ลงลึกถึงแก่นของวิชาและนำมาพัฒนานักเรียนในวงกว้างต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ขณะที่ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวสรุป “ในการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับฟังการบรรยาย อภิปรายสร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมพลังสมองด้วยการปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะได้พัฒนาบุคลากรแกนนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาและขยายผลการจัดการเรียนการสอนเวทคณิตแล้ว ยังสามารถเป็นที่ปรึกษา และให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเวทคณิตในห้องเรียนได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเวทคณิต โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอนคณิตศาสตร์ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์และเทคนิคต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนเวทคณิตในห้องเรียน กับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ของสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเวทคณิต เพื่อพัฒนาต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ด้วยเวทคณิตอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายการจัดการเรียนการสอนเวทคณิตในระดับนานาชาติต่อไป”

อัจฉรา ภาพ /ข่าว