สพฐ. จับมือ ไมโครซอฟท์ ลงนามบันทึกความเข้าใจ “การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”

วันที่ 17 กันยายน 2562 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ “การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายปวิช ใจชื่น ผู้อํานวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด รวมทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 มีกําหนดระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2565) โดยที่ผ่านมา สพฐ. และไมโครซอฟท์ ได้ดําเนินงานความร่วมมือทางการศึกษาร่วมกันต่อเนื่องมากว่า 16 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ภายใต้บันทึกความเข้าใจ จํานวน 3 ฉบับ โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ครู โรงเรียน และหน่วยงานทางการศึกษา ได้แก่ โครงการ Microsoft IT Youth Challenge สําหรับนักเรียน โครงการ Thailand Innovative Teacher Leadership Award สําหรับครู โครงการ Office 365 Education สําหรับโรงเรียน และการประชุม Change Leadership สําหรับคณะผู้บริหารและวิทยากรแกนนํา ฯลฯ

ซึ่งการลงนามฯ ครั้งนี้ สพฐ. และไมโครซอฟท์จะดําเนินโครงการ “การขับเคลื่อน การศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” (Digital Transformation in Education) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ตามนโยบายและแผนระดับมหภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายหลักของคณะรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ด้วยวิธีการปรับรูปแบบการเรียนรู้และการสอน เพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพสําหรับศตวรรษที่ 21 โดยนําเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในการจัดการเรียน การสอน อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทุกช่วงวัย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาโรงเรียนควบคู่ไปกับการพัฒนาครู รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล

ทั้งนี้ คณะกรรมการของทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกําหนดแผนปฏิบัติการในการปรับปรุงการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงเรียน รวมถึงหน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับ เพื่อยกระดับการพัฒนาทักษะสําหรับ ศตวรรษที่ 21 การเข้าถึงอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม และคุณภาพการจัดการศึกษา ให้แก่นักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาอย่างทั่วถึงต่อไป

ฐิติมา ข่าว