สพฐ. จับมือแพธทูเฮลท์ ร่วมด้วย สสส. ขับเคลื่อนครูเพศวิถีศึกษาแบบออนไลน์ เพื่อสร้างสรรค์นักเรียนคุณภาพ

วันที่ 26 กันยายน 2562 นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ E-Learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ


นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 และกำหนดให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน โดยครอบคลุมถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล พฤติกรรมทางเพศ สุขภาวะทางเพศ และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเพศ รวมทั้งสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศ
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) จัดทำโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic-learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในโรงเรียนสังกัด สพฐ. พร้อมทั้งพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต และการให้คำปรึกษาเรื่องเพศแก่นักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขยายผลให้ครอบคลุมการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมพัฒนาครูเพศวิถีศึกษาแบบออนไลน์ ให้ครูสามารถนำไปสอนนักเรียนได้อย่างทั่วถึง โดยเชิญชวนให้ผู้บริหาร ครูผู้สอนเพศวิถีศึกษา ครูสุขศึกษาและพลศึกษา ครูแนะแนว และครูอื่นที่สนใจ เข้ารับการอบรมผ่านโปรแกรมพัฒนาครูเพศวิถีศึกษาแบบออนไลน์ โดยครูสายงานการสอนเมื่ออบรมแล้วสามารถนับชั่วโมงการพัฒนาใช้เป็นคุณสมบัติในการขอมีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดได้


สำหรับการดำเนินการ มีการปรับปรุงเนื้อหาสาระหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน สุขศึกษาและพลศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศวิถีศึกษาและความหลากหลายทางเพศให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยปรับปรุงหนังสือเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป. 1 – ม. 6 รวมทั้งจัดทำโครงการจัดกระบวนการเรียนรู้สุขภาวะ นำร่องในโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 200 โรงเรียน โดยใช้หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานสุขศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ซึ่งประกอบด้วย พฤติกรรม สุขภาพ เพศวิถีและสัมพันธภาพ พฤติกรรมเสี่ยงและสารเสพติด และความปลอดภัยและป้องกันอันตราย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้ในลักษณะ Active Learning เกี่ยวกับทักษะชีวิต ทักษะสุขภาพ และทักษะวิชาการ โดยมุ่งหวังให้นักเรียนมีความรู้ เจตคติ คุณธรรม ค่านิยม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพให้ดีขึ้น และจัดทำโปรแกรมพัฒนาครูเพศวิถีศึกษาแบบออนไลน์เชิญชวนให้ผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไปเข้ารับการอบรมผ่านทางเว็บไซต์ http://cse-elearning.obec.go.th ประกอบด้วย 8 หน่วยการเรียนรู้ (Module) ดังนี้
– Module 1 เพศวิถีศึกษา
– Module 2 มองเรื่องเพศรอบด้าน
– Module 3 สังคม วัฒนธรรม และเพศวิถี
– Module 4 ครูกับการสื่อสารเรื่องเพศ
– Module 5 การจัดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
– Module 6 ห้องเรียนเพศวิถีที่นักเรียนมีส่วนร่วม
– Module 7 ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
– Module 8 โรงเรียนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต โดยมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 41,708 คน ประกอบด้วย ครูที่เข้าอบรม 37,836 คน ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษาและอื่นๆ อีก 3,835 คน จำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วม 30,112 โรง มีครูที่เข้ารับการอบรมแล้ว 12,724 โรง และครูที่ยังไม่ได้เข้ารับการอบรม 17,388 โรง
ทั้งนี้ แผนที่จะดำเนินการต่อไป คือ ให้ครูสุขศึกษาและพลศึกษา และครูแนะแนวได้อบรมครบทุกโรงเรียน/ทุกคน พร้อมทั้งขยายผลการอบรมไปสู่โรงเรียนในสังกัดอื่น ๆ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่งจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น ทั้งนี้ สพฐ. จะยกย่องเชิดชูสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จต่อไป

อัฉรา ข่าว