สพฐ. จับมือมูลนิธิรักษ์ไทย เปิดโครงการ “นักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย”

 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าที่ ร.ต. ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมพิธีเปิดโครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย เพื่อให้นักเรียนลดการรังแกในโรงเรียนและในโลกไซเบอร์ โดยใช้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา โดยมี นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยครูและนักเรียนในโครงการ เข้าร่วมในพิธี ณ โรงแรมเดอะสุโกศล ราชเทวี กรุงเทพฯ

ว่าที่ ร.ต. ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติลด/ยุติการรังแกอันเป็นส่วนหนึ่งภายใต้นโยบายการปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยอยู่ในแนวคิดของ สพฐ. ที่จะจัดทำหลักสูตร “ออนไลน์” ที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันกับมูลนิธิรักษ์ไทย และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการยุติการรังแก การแก้ไขปูพื้นฐานในโรงเรียน และปกป้องแก้ไขควบคู่กันทั้งในโรงเรียนและบนโซเชียลมีเดีย

โครงการนี้จะมุ่งเน้นแก้ปัญหาการรังแกในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหากับกลุ่มที่อยู่ในวงจรการรังแกมากที่สุด โดยเน้นว่าสาเหตุที่คนมีทัศนคติเชิงลบ รังเกียจ และมีพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นเพราะการเรียนรู้ทางสังคมที่สื่อมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมการรังแกที่หวังให้มีคนเชียร์ ร่วมในการรังแก เป็นพฤติกรรมที่เข้าลักษณะการรังแกแบบบูลลี่ (Bully) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและแนวความคิดที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะทางสังคมที่ดี

โดยจะมีการจัดทำหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้เด็กนักเรียนและครูผู้สอนในโรงเรียน 29,715 โรงเรียนทั่วประเทศได้นำไปใช้ โดยผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการกับโรงเรียนนำร่องในโครงการ 50 โรงเรียนจาก 5 ภูมิภาค เพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกันในสถานศึกษา โดยการจัดทําเป็นวิดีโอออนไลน์ และจัดทำระบบ E-Training สำหรับครูและบุคลากร E-Learning สำหรับนักเรียน เพื่อขยายผลไปสู่ทุกโรงเรียนในสังกัดต่อไป

“เป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือการให้เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับการเสริมสร้างคุณค่า การรับรู้ และพฤติกรรมที่เข้าใจการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความหลากหลาย พร้อมทั้งเข้าใจอิทธิพลของสื่อที่ไม่ได้สร้างการรังเกียจ การเกลียด และพฤติกรรมรุนแรง และสามารถทดแทนโดยสื่อที่ดีสร้างสรรค์ พร้อมกับให้ครูมีความเข้าใจและทักษะในการแนะนำ และให้การปรึกษากับเด็กที่เป็นผู้รังแกหรือผู้ถูกรังแกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของโครงการ จะมีการศึกษาองค์ความรู้ที่มาจากข้อมูลประจักษ์ในเรื่องการรังแกในโรงเรียนสู่โซเชียลมีเดีย และพัฒนาเครื่องมือโปรแกรมการสำรวจและวิเคราะห์ที่สามารถติดตามสถานการณ์การล้อ แกล้ง รังแก ของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. โดยข้อมูลจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา สร้างความเข้าใจการรังแกและสาเหตุที่มาจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะสื่อ ร่วมกันจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกันในโรงเรียนและโลกออนไลน์ รวมถึงพัฒนาครูในสังกัด สพฐ. ให้เกิดความเข้าใจและเกิดความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกันในโรงเรียนและโลกออนไลน์ ให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ และสร้างเครือข่าย “สื่อดี ยุติการรังแก” ที่มีเด็กเยาวชน ผู้ปกครอง และผู้มีอิทธิพลทางสื่อ ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจ เสนอแนวทางแก้ไข หรือป้องกันปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกันในโรงเรียน เพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ข่าว : อัจฉรา
ภาพ : กำธร / วุฒิภัทร / ธวัชชัย