สพฐ. จัดการประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “EDU digital 2018”

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ชื่อ “EDU digital 2018” และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ล้ำสมัย รวมถึงข้อมูลแหล่งเรียนรู้ ครอบคลุมถึงเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ และจุดประกายแนวคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีไปบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งในและนอกชั้นเรียน โดยมี นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน ณ โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ท จ.สงขลา


พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนำเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สัมฤทธิ์ผลในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการสร้างงานในโลกดิจิทัล การสนับสนุนให้เกิดการผลิตและบริการด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลอย่างเสมอภาคและทั่วถึง ซึ่งครอบคลุมถึงความปลอดภัยไซเบอร์ การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแนวทางในการบริหารราชการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ การสร้างการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอินเทอร์เน็ต การส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงระบบดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม การนำวิธีวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Data Analysis มาส่งเสริมการเรียนรู้ การส่งเสริมการศึกษาด้านดิจิทัล และการรวบรวมข้อมูลด้านการจราจร

“กระทรวงศึกษาธิการได้นำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV, DLIT, ETV การใช้แอพพลิเคชั่น Echo English เว็บไซต์ติวฟรีดอทคอม ซึ่งจากการรายงานและการลงพื้นที่ติดตาม พบว่ามีการขับเคลื่อนและนำเทคโนโลยีไปสร้างสรรค์งานดิจิทัลมากมาย ประกอบกับมีเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน หากไม่ได้นำมาสู่การรับรู้ในกลุ่มของผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริหารและจัดการเรียนการสอน จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าเรื่องราวหรือผลงานดีๆ เหล่านั้น ไม่ได้มีการนำไปสู่การขยายผลหรือต่อยอด ซึ่งจากที่ได้เห็นผลงานและองต์ความรู้ที่อยู่ในงาน EDU digital 2018 นี้ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความคิดและการสร้างสรรค์โดยบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. แสดงให้เห็นว่า การขับเคลื่อนประเทศตามแนวคิด Thailand 4.0 ในส่วนของการศึกษามีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม” รมช.ศธ. กล่าว


ขณะที่ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ได้จัดงาน “EDU digital 2018 : การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”ขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องประชุมไทรแก้ว โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา ภายในงานประกอบด้วยการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและนวัตกรรมสมัยใหม่ และการแสดงผลงานที่เป็นผลจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น ห้องเรียน Office 365 for Education / ห้องเรียน Intelligent Classroom / โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) / OBEC Content Center : คลังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของ สพฐ. รวมถึงการจัดแสดงผลงานครูและนักเรียนที่สะท้อนให้เห็นผลงานของการบูรณาการเทคโนโลยีกับการเรียนการสอน และนอกเหนือจากการจัดนิทรรศการแสดงผลงานดังกล่าวแล้ว ยังได้พบกับวิทยากรที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่น่าสนใจ เช่น “ห้องเรียน 4.0 : สอนให้เป็น เน้นให้คิด ผลิตนวัตกรรมด้วย Digital Technology” โดย ดร.กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ สพม. เขต 2 / “นวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยียุค AI” โดย ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด / การเสวนา เรื่อง “วิทยาการคำนวณ” ทำไมเด็กไทยต้องเรียน? โดยนายวรวิทย์ ไชยวงศ์คต ครูโรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษา “โพธิ์คำอนุสรณ์” และนายณัฐพล บัวอุไร ครูโรงเรียนสวนกุหลาบ (รังสิต) / เรื่อง “เขย่าห้องเรียนเปลี่ยนการเรียนรู้ : Shake up the Classroom” โดย ดร.ธานีวิทย์ กิติฐิพงศ์ ครูโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมป์ วิทยากรคนเก่งที่สอนครูด้านการนำแอปพลิเคชั่นต่างๆ ไปแก้ปัญหาในชั้นเรียน และลดภาระงานครูจากประสบการณ์ของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญและเร่งให้นำไปสู่การสร้างการรับรู้ คือเรื่อง “การป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากโลกไซเบอร์” โดยนายปิตุพงศ์ ยาวิราช ที่ปรึกษาด้านระบบความปลอดภัยสารสนเทศ ที่จะมาให้ความรู้และข้อควรระวังจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างน่าสนใจอีกด้วย

ข่าว: อัจฉรา / ภาพ: วุฒิภัทร