สพฐ. จัดประชุม “การสร้างโอกาสให้โรงเรียนขนาดเล็ก” ในเขตพื้นที่ สพม.กทม.และปริมณฑล

วันที่ 9 มีนาคม 2564 นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม “การสร้างโอกาสให้โรงเรียนขนาดเล็ก” ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการจัดการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนทางเลือกเฉพาะสาขา โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน อธิการบดีมหาวิทยาลัยหรือผู้แทน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จาก 5 เขตพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา จำนวน 60 คน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1-4 (เขตเดิม) เพื่อเตรียมเสนอให้เป็นโรงเรียนทางเลือก เมื่อวันอังคารที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีการประชุมต่อเนื่อง เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการจัดการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนทางเลือกเฉพาะสาขา เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในสาขาที่มีแนวโน้มที่ดีสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 4 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตพระนคร วิทยาเขตกรุงเทพ และวิทยาเขตธัญบุรี รวมทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (หลักสูตรโคเซ็น) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีที่ตั้งใกล้เคียงกับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กที่เป็นโรงเรียนนำร่อง พร้อมทั้งสามารถรองรับและสนับสนุนการศึกษาต่อของนักเรียนตามบริบทของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้

ดังนั้น จึงได้จัดการประชุม “การสร้างโอกาสให้โรงเรียนขนาดเล็ก” ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครและปริมณฑลขึ้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และผู้อำนวยการโรงเรียนการทำมาหากินวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ (อนุสรณ์วันเด็กแห่งชาติ ปี 2537) เข้าร่วมการประชุมด้วย เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้รับทราบแนวทางความร่วมมือในการบริหารจัดการการศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กร่วมกับมหาวิทยาลัยดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการหารือในหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ผลสรุปข้อมูลจากการประชุมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมเสนอให้เป็นโรงเรียนทางเลือก การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างโอกาสให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก การแบ่งกลุ่มเชื่อมโยงการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กกับสถาบันอุดมศึกษา และสรุปผลการประชุม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมครั้งต่อไป เป็นต้น