สพฐ. ประกาศเจตนารมณ์ลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานทั่วประเทศ

วันที่ 27 ธันวาคม 2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์ในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ตามนโยบาย “มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 กิจกรรม ภายใต้โครงการ “ทําความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ของรัฐบาล พร้อมเน้นย้ำให้ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับภาคเอกชนและประชาชนโดยทั่วไป

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ให้ทุกหน่วยงานภาครัฐมีการดําเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพและง่ายต่อการนําไปใช้ประโยชน์ โดยกําหนดเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เป็นต้นไป ในเบื้องต้นกําหนดเป้าหมายให้ข้าราชการทั่วประเทศปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการนําไปใช้ประโยชน์ โดยคาดว่าปริมาณขยะมูลฝอยของหน่วยงานภาครัฐจะลดลงได้มากถึง 12,000 ตันต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย รวมทั้งสามารถสร้างรายได้จากขยะรีไซเคิลที่คัดแยกได้ และสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณพลาสติกถุงหูหิ้ว โฟมบรรจุอาหาร และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนและหน่วยงานภาคเอกชนในการดําเนินงานร่วมกันต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เล็งเห็นความสำคัญในปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งควรสร้างความตระหนักตั้งแต่เยาวชนของชาติ จนถึงข้าราชการและบุคลากรในส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษา จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อให้สำนักในส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัด มีการดำเนินงานด้านการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในอาคารและพื้นที่ของหน่วยงานเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อภาคเอกชนและประชาชนให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ขยะพลาสติกและโฟมในภาพรวมของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักการ 3R คือ ใช้น้อยหรือลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) ในการจัดการขยะที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังได้กำหนดมาตรการในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยใน สพฐ. ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้สำเนาเอกสารทางราชการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (No Copy) การใช้ QR Code เพื่อลดการใช้กระดาษในการประชุมต่างๆ เน้นการใช้กระดาษ 2 หน้าในหนังสือแจ้งเวียน และลดการใช้กระดาษรองปกรองหนังสือแจ้งเวียน รวมถึงลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกในการประชุมใน สพฐ. เช่น การประชุมผู้บริหาร สพฐ. และการประชุมของสำนักต่างๆ โดยให้ใช้แก้วน้ำแทน และรณรงค์ให้ข้าราชการและบุคลากรใช้ภาชนะส่วนตัวมาประชุม ทั้งแก้วน้ำส่วนตัวหรือกล่องข้าวส่วนตัว และหากต้องมีการแจกข้าวกล่อง ให้เน้นการใช้ภาชนะที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นกล่องชานอ้อย

“ในส่วนของมาตรการที่จะดำเนินการในอนาคต สพฐ. จะจัดให้มีการแยกขยะอย่างเป็นระบบอย่างทั่วถึงทั้งหน่วยงาน โดยจะวางถังแยกกันอย่างชัดเจนในแต่ละอาคารและชั้น ถังขยะที่แยกแบ่งเป็นขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย มีการเปรียบเทียบปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเพื่อสำรวจว่าลดลงหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ข้าราชการและบุคลากรให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกขยะมูลฝอย งดใช้โฟมบรรจุอาหารในการประชุมของ สพฐ. 100% ส่งเสริมให้มีการใช้ถุงผ้า ปิ่นโต ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และกำหนดเป็นตัวชี้วัดเพื่อประเมินประสิทธิภาพของหน่วยงานใน สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

อัจฉรา เขียนข่าวครับ