คลิกชมคลิป https://youtu.be/clZEEm8gpZs
วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขา ธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อชี้แจงแนวทางการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารระดับสูง อาทิ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งเลื่อนจากเดิมวันที่ 17 พ.ค. มาเป็นวันที่ 1 มิ.ย.นั้น สพฐ. ได้แบ่งระยะดำเนินการออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 11-16 พ.ค. ให้ผอ.เขตพื้นที่ทำการตรวจทานและสรุปข้อมูลอีกครั้งว่าโรงเรียนจะใช้วิธีการเรียนการสอนรูปแบบใด และมีจำนวนนักเรียนกี่คนในแต่ละรูปแบบ พร้อมทั้งกำชับในเรื่องการรับนักเรียนในส่วนของการจับสลาก ให้จำกัดคนเข้าได้คราวละไม่เกิน 200 คน ตามมาตรการป้องกันโรคของ ศบค. นอกจากนั้นจะมีการเตรียมพร้อมสนับสนุนโรงเรียนและครูในเรื่องการสอนออนไลน์ โดย สพฐ. จะปรับคลังสื่อการเรียนรู้ทั้งหมด จำแนกไว้สำหรับนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำสื่อหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวยิ่งขึ้น
ช่วงการเตรียมความพร้อมระยะที่ 2 ในระหว่างวันที่ 17-31 พ.ค. เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนและครู โดย สพฐ. ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนที่น่าสนใจ โดยเรียนรู้เทคนิควิธีการสอนผ่านคลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ (รับชมได้ตั้งแต่วันที่ 12-28 พ.ค.) รวมถึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาครูให้สามารถสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประสานกับ DLTV ในเรื่องการจัดตารางการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการจัดตารางเรียนปกติที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. และยังได้เตรียมกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ ให้นักเรียนได้เลือกทำตามความสมัครใจ ในลักษณะเป็นงานอดิเรกของนักเรียน หรือหากโรงเรียนใดจะใช้โอกาสนี้ในการซักซ้อมการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็สามารถทำได้เช่นกัน
จากนั้นระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นในส่วนของการเปิดภาคเรียน สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนจะยังคงใช้การเรียนใน 5 รูปแบบ นั่นคือ 1. On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค 2. Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ 3. On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 4. On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ และ 5. On Hand เป็นการจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ หากโรงเรียนใดสามารถจัดการเรียนในห้องเรียนปกติได้ ให้ใช้การเรียนที่โรงเรียนเป็นฐาน (On Site) แต่หากไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ให้ดูความพร้อมและความต้องการของนักเรียนเป็นสำคัญ
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในโรงเรียน สพฐ. ได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งต้องทำการประเมินความพร้อม ให้สอดคล้องตามคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการป้องกันโรค ตามที่ราชการกำหนด โดยจัดสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ ห้องเรียน และพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ให้มีการเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อีกทั้งให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ เพื่อรับทราบข้อมูลจริงได้อย่างทันท่วงที
“ทั้งนี้ สพฐ. ได้นำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อยอดมาสู่การปฏิบัติใน 4 ประเด็น ได้แก่ ความปลอดภัย โอกาส คุณภาพ และ ประสิทธิภาพ โดยจัดการเรียนการสอนที่เน้นคุณภาพใน 3 ประการ คือ 1.อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น 2. มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสา 3. 1ดนตรี 1กีฬา 1อาชีพ เลือกได้ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน ซึ่งถึงแม้สิ่งที่เราต้องเผชิญในสถานการณ์โควิด-19 จะมีความยากลำบากและอุปสรรคบ้าง แต่ในวันนี้ที่เราต้องดำเนินชีวิตภายใต้วิถีใหม่ เราจะต้องมีสติมั่นคง พร้อมเดินหน้าพัฒนาการศึกษาด้วยเป้าหมายที่ว่า เด็กต้องได้เรียน ผู้ปกครองเชื่อมั่น ครูและนักเรียนต้องปลอดภัย ‘อยู่ที่ไหนต้องได้เรียน’ นั่นเอง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว