วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขา ธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. และนายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อสื่อสารกับ ผอ.เขต ทั่วประเทศวันนี้ ได้พูดถึงเรื่องการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะในส่วนของการดำเนินการตามมติ ครม. เรื่องโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของกระทรวงศึกษาธิการ ใน 3 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้มาตรการที่ 2 การขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชน และมาตรการที่ 3 เป็นการลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss) รวมถึงการวัดประเมินผลนักเรียน การประเมินการจัดการเรียนการสอนของครูและการดูแลสุขภาพของครูและนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย
ทั้งนี้ ตนได้เสนอกรอบความคิดการบริหารใน 6 ข้อ ได้แก่ 1.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ทำการตรวจสุขภาพหน่วยงาน 2.จัดทำแผนแก้ปัญหาและพัฒนา 3.นำแผนสู่การปฏิบัติ 4.นิเทศ กำกับ ติดตาม 5.ตรวจและประเมินสุขภาพหน่วยงานและ 6.สรุปและรายงานผล เพื่อให้ ผอ.เขต และบุคลากรนำไปปรับใช้กับหน่วยงานในพื้นที่ของตัวเอง โดยดูว่าเรามีความสำเร็จ มีปัญหาอุปสรรค หรือมีอะไรบ้างที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ และเราต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ จากนั้นเมื่อเราลงมือปฏิบัติแล้วจะมีการนิเทศติดตามอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้เห็นสิ่งที่เราสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้เกิดการพัฒนา หากทุกคนนำกรอบแนวคิดนี้ไปประเมินภาระงานของตัวเอง และปรับเปลี่ยนไปตามพื้นฐานที่ตัวเองมีอยู่ โดยไม่ต้องให้ใครมาเปลี่ยนแปลงเรา แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยความมีเหตุมีผลบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตและการทำงานเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า ทางด้านการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนและสังคม จากการรายงานข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ค. 2564 พบว่าในขณะนี้มีการอนุญาตใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. เพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย รวมถึงหน่วยบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 673 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงพยาบาลสนาม 67 โรง โรงพยาบาลสนามสำรอง 15 โรง โรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว 27 โรง สถานที่กักตัว 348 โรง สถานที่พักคอย 205 โรง สถานที่แวะเข้าห้องน้ำ 9 โรง หน่วยคัดกรอง (Swab) 1 โรง และ 2 ค่ายลูกเสือ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 15,619 เตียง
ในส่วนนี้ ตนได้กำชับกับ ผอ.เขต ว่า ในช่วงนี้ที่มีประชาชนจากพื้นที่สีแดงเข้มเดินทางไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเกิดภาวะโรงพยาบาลเต็มและผู้ป่วยไม่มีสถานที่กักตัว ก็จะมีหน่วยงานต่างๆ มาขอใช้โรงเรียนเป็นสถานที่พักคอยหรือโรงพยาบาลสนาม วันนี้หากเราไม่ช่วยกันสกัดคนเจ็บคนป่วยให้ลดน้อยลง ก็จะเป็นการผลักภาระให้กับหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างยิ่ง นอกจากนั้นคือเราไม่ต้องการเห็นคนเฒ่าคนแก่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยเสียชีวิต ดังนั้นการอนุญาตให้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่พักคอย ขอให้ ผอ.เขต วางแผนออกแบบว่าในแต่ละพื้นที่ถ้าหากจะมีที่พัก 1 แห่ง ควรจะใช้ที่ไหน ซึ่งอาจเป็นโรงเรียนที่ถูกยุบควบรวมแล้วไม่มีการใช้งาน หรือเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการเรียน On-Site ในโรงเรียน โดยดูว่าจะใช้อาคารสถานที่ตรงไหนและจะบริหารจัดการความปลอดภัยได้อย่างไร เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่
“เหตุผลสำคัญที่เราต้องการอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ดังกล่าว คือการให้บริการช่วยเหลือคนในชุมชน รวมถึงนักเรียนที่เจ็บป่วยในชุมชนเป็นหลัก เพราะวันนี้หากไม่มีเด็ก ไม่มีชุมชน ก็คงไม่มีโรงเรียนอยู่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในประเทศไทยจะต้องจับมือกัน โดยไม่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เราจะต้องร่วมมือไปด้วยกัน จึงจะเอาชนะวิกฤติโรคภัยไข้เจ็บโควิด-19 ในครั้งนี้ไปได้ครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
อัฉรา /ข่าว