วันที่ 27 สิงหาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมทางไกล เพื่อชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนักเรียน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอนที่รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting และถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ขอให้โรงเรียนมีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน โดยจัดการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ 1. การเรียนแบบ On-Hand ให้จัดส่งใบงานหรือใบกิจกรรมที่โรงเรียนจัดทำขึ้นไปยังเด็กผ่านผู้ปกครอง และนับจำนวนชั่วโมงตามกิจกรรมที่จัดผ่านใบงานนั้น 2. การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม (On-Air) ออกอากาศผ่าน DLTV เรียนได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านช่องทางจานดาวเทียม ดิจิทัลทีวี และดาวน์โหลดเอกสารใบงานจากเว็บไซต์ www.dltv.ac.th โดยนับจำนวนชั่วโมงเรียนตามตารางการเรียนการสอนของ DLTV 3. การเรียนผ่านออนไลน์ (Online) ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Group Line ของแต่ละห้องเรียน เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครองและเด็ก รวมถึงการมอบหมายงานหรือกิจกรรม ให้นับจำนวนชั่วโมงตามกิจกรรมที่จัด โดยไม่ควรให้เด็กอยู่หน้าจอนานเกิน 1 ชั่วโมง และต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง 4. การเรียนรูปแบบผสมผสาน ให้นับจำนวนชั่วโมงตามกิจกรรมที่จัดเป็นหลัก ซึ่งนอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวไปนั้น ครูสามารถจัดกิจกรรมโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเด็กได้ เน้นให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส และมีปฏิสัมพันธ์ทางบวก เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข ทำให้เด็กได้เคลื่อนไหว เช่น การสำรวจ สังเกต เล่น สืบค้น ทดลอง เล่านิทาน ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง เป็นต้น
ทางด้านการประเมินพัฒนาการของเด็กนั้น จะเป็นการประเมินร่วมกันระหว่างครูและผู้ปกครองอย่างเหมาะสมตามสภาพบริบท โดยประเมินให้เชื่อมโยงรูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 4 รูปแบบ (On-Hand, On-Air, Online, ผสมผสาน) ซึ่งผู้ปกครองและครูอาจตกลงกันในการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงหลักฐานการประเมิน ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสภาพบริบท โดยผู้ปกครองอาจร่วมประเมินด้วยการใช้เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลง่ายๆ สำหรับเด็ก เช่น แบบบันทึกความดี เพื่อไม่สร้างความเครียดในการประเมินให้กับเด็ก
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนักเรียน โดยการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท นักเรียนที่จะได้รับเงินเยียวยานั้น ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนที่ได้ลงข้อมูลไว้ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เมื่อมีรายชื่อเป็นนักเรียนอยู่ที่ไหน สพฐ. ก็จะจัดสรรเงินไปตามรายชื่อของนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนนั้น โดยโรงเรียนจะจ่ายเงินให้เฉพาะนักเรียนที่มีตัวตนจริง ส่วนนักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนในวันที่ 25 มิ.ย. แต่มาเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนนั้น นักเรียนจะยังมีชื่ออยู่ที่โรงเรียนเดิม ทางโรงเรียนใหม่ก็ต้องเพิ่มชื่อนักเรียนเข้าไป แล้วรายงานไปยังเขตพื้นที่ฯ หากว่าโรงเรียนมีเด็กย้ายออก ก็ให้งดการจ่ายของเด็กคนนั้น และถ้ามีเด็กมาเพิ่มแล้วโรงเรียนมีเงินเหลือพอก็สามารถจ่ายเงินเด็กที่มาเพิ่มได้ พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลไปที่เขตพื้นที่ฯ หรือถ้ามีเด็กย้ายออกอย่างเดียวไม่มีย้ายเข้า ก็ให้แจ้งข้อมูลที่เขตพื้นที่ฯ พร้อมกับโอนเงินที่เหลือเข้ามา โดยโรงเรียนสามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองได้โดยตรงหรือจ่ายเป็นเงินสดก็ได้ ส่วนจะได้รับวันที่เท่าไหร่นั้นต้องรอให้กระทรวงการคลังโอนเงินเข้ามาที่กระทรวงศึกษาธิการเสียก่อน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่สภาพัฒน์ฯ เมื่อตรวจสอบเอกสารครบถ้วนก็คาดว่าจะสามารถโอนเงินได้ไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ เมื่อ สพฐ. ได้รับเงินจัดสรรเมื่อใดก็จะโอนเงินไปยังบัญชีของเขตพื้นที่ฯ ภายในวันเดียวกันนั้น และให้เขตฯโอนต่อไปยังโรงเรียนภายใน 3 วัน เมื่อเงินถึงบัญชีโรงเรียนแล้ว ขอให้โรงเรียนโอนเงินหรือจ่ายเงินถึงมือผู้ปกครองภายใน 3 วันเช่นเดียวกัน โดยรวมแล้วทั้งกระบวนการขอให้จบภายใน 7 วัน
ในส่วนของการจ่ายเงิน เราได้กำหนดแนวทางไว้ 2 ประเด็น คือ หากผู้ปกครองมีบัญชีธนาคารก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองได้โดยตรง แต่หากใช้วิธีโอนเงินไม่ได้ จะให้โรงเรียนบริหารจัดการผ่านครูประจำชั้น ในการออกแบบการจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครอง เช่น นัดหมายผู้ปกครองเข้ามารับเงินสดที่โรงเรียน แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคของ ศบค. โดยให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานในการจ่ายเงิน ทั้งนี้ ขอให้ทางโรงเรียนสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจตรงกันว่า ในขณะนี้ สพฐ. ยังไม่ได้รับเงินจัดสรรจากกระทรวงการคลังมาถึงกระทรวงศึกษาธิการ จึงยังไม่มีเงินลงไปถึงโรงเรียน ซึ่งเมื่อใดที่เงินลงไปถึงโรงเรียนแล้ว ก็จะดำเนินการจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองภายใน 3 วัน
“ทั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน สังกัด สพฐ. สามารถตรวจสอบสถานะการมีสิทธิ์ตามโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (COVID-19) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ได้แล้วที่เว็บไซต์ https://student.edudev.in.th โดยจะต้องมีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนและเลขประจำตัวนักเรียน ที่โรงเรียนรายงานเข้ามาในระบบและยืนยันข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2564 กรณีที่มีการย้ายสถานศึกษาหลังวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ให้ใช้เลขประจำตัวของโรงเรียนเดิมจึงจะพบสิทธิ์ และนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ จะยังไม่ได้รับสิทธิ์ในรอบนี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- เสมา 1 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ สั่งการเร่งช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัย - 13 กันยายน 2024
- สพฐ. แจ้งแนวทาง สพท.ทั่วประเทศ ตรวจสอบ เน้นย้ำ กำชับสถานศึกษาทุกแห่ง ลดภาระการประเมินและเลื่อนเงินเดือนครู - 13 กันยายน 2024
- สพฐ. ประชุมการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษา 2567 ขับเคลื่อน “เรียนดี มีความสุข” ต่อเนื่อง - 12 กันยายน 2024