ศธ. สพฐ. ร่วมลงนาม MOU โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล


วันที่ 21 มกราคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ภายใต้แนวคิด “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและมีความพร้อมในการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม งานอาชีพ และสุขภาพอนามัย

โดยมี พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้แทนจากกระทรวงที่ร่วมลงนามเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบาย “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ”

เป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้เป็น โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ภายใต้แนวคิด “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและมีความพร้อมในการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม งานอาชีพ และสุขภาพอนามัย สามารถให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับนักเรียนในท้องถิ่นชนบท และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชน บ้าน วัด รัฐ โรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ
ในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีคุณสมบัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คือ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่มีความพร้อมเข้าร่วมการพัฒนา ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน การคมนาคม และการสื่อสารสะดวก มีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ สามารถรองรับการเพิ่มจำนวนนักเรียนได้ในอนาคต รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และผ่านการพิจารณาคัดเลือก กลั่นกรอง ให้ความเห็นชอบ ผ่านกระบวนการประชาคม 3 ระดับ คือ ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ตามลำดับ โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 7,255 โรงเรียน นอกจากนั้น ในปีงบประมาณ 2563 ยังมีแผนที่จะขยายผลไปยังโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาประจำอำเภอ และโรงเรียนพื้นที่พิเศษ (Stand Alone) ตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาการศึกษาไทยในเชิงระบบอย่างแท้จริง
ในอนาคตโรงเรียนคุณภาพเหล่านี้จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม ได้รับความรู้ กระบวนการและทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในส่วนของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ก็จะมีความพร้อมทั้งสมรรถนะ ศักยภาพ และความสามารถในการบริหาร การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนจะกลายเป็นต้นแบบโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อมในทุกด้าน และเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชนที่ทุกภาคส่วนให้การยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อคุณภาพของโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ ตลอดจนมีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการและทิศทางในการพัฒนาประเทศ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางรากฐานของประเทศไทยให้มีความมั่นคงที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” รมช.ศธ. กล่าว

ข่าว อัจฉรา ทั่งโม /ภาพ วุฒิภัทร ฤทธิ์จันทร์