‘อัมพร’ กำชับ ผอ.รร.ต้องประเมินความพร้อมก่อนเปิดเรียน เน้นจัดการเรียนตามรูปแบบที่เหมาะสม

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference เพื่อมอบนโยบายและซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางการเตรียมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ณ ห้องสตูดิโอ OBEC Channel อาคาร สพฐ. 1 ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุม Video Conference

นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เราต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีกำหนดเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไซต์ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเข้าใจ และความสับสนถึงแนวทางและวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการ จึงประชุมออนไลน์เพื่อสื่อสารให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และโรงเรียน
เกิดความเข้าใจและมีแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการประชุมวันนี้ คือการเตรียมการเปิดภาคเรียนในรูปแบบออนไซต์ เราจะไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียน โดยจะเปิดพร้อมกัน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยให้เปิดเรียนในรูปแบบออนไซต์ แต่หากเปิดออนไซต์ไม่ได้ให้ยึดรูปแบบอื่นทั้ง 4 รูปแบบ ได้แก่ ออนแอร์ เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV ออนดีมานด์ เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ออนไลน์ เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และออนแฮนด์ เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัด หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ ตามที่เคยทำมาในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีความต้องการเปิดประเทศ โดย สพฐ. ก็มีเป้าหมายของการดำเนินการตามนโยบายด้วยการเปิดเรียนออนไซต์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ทั้งนี้โรงเรียนใดที่จะเปิดเรียนออนไซต์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะต้องการมีปฏิบัติตามปัจจัยต่างๆ เช่น ปัจจัยที่ 1. บทบาทหน้าที่ต้องเริ่มที่โรงเรียน และจะต้องประเมินตนเองให้ผ่านเกณฑ์ 44 ข้อ ว่ามีความพร้อมที่จะเปิดเรียนได้หรือไม่ แต่จากการประเมินที่ผ่านมาพบว่าการประเมินที่ไม่ผ่านส่วนใหญ่เกิดจาก ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับการประเมินอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงขอสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคอยดูแลกำกับให้โรงเรียนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และกำชับให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ประเมินด้วยตนเอง พร้อมถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมาด้วย ปัจจัยที่ 2 คือวัคซีนครูซึ่งในภาพรวมฉีดมาเกือบ 90% แล้ว แต่ยังคงพบว่ายังมีบางโรงเรียนยังฉีดไม่ถึง 30% ดังนั้นเขตพื้นที่จะต้องมีข้อมูลจำแนกเป็นรายโรงเรียน ว่าแต่ละโรงเรียนมีการฉีดวัคซีนจำนวนเท่าไร ใครฉีดแล้วบ้าง ไม่ฉีดด้วยสาเหตุอะไร ต้องมีข้อมูลที่จะตัดสินใจและหาวิธีแก้ปัญหาได้ ปัจจัยที่ 3. ขณะนี้มีนักเรียนที่ประสงค์ที่จะฉีดวัคซีน 80% แต่ยังมีบางโรงเรียนฉีดไม่ถึง 50% จึงจะต้องเป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน ร่วมกันประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม สนับสนุนอย่างไร และปัจจัยที่ 4 การฉีดวัคซีนของผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ป.6 ที่อายุไม่ถึง 12 ปี ให้โรงเรียนรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากนักเรียนในวันนี้มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครองเป็นพิเศษ หากผู้ปกครองได้ฉีดวัคซีนครบ ย่อมส่งผลให้เกิดความปลอดภัยกับนักเรียนมากขึ้นด้วย ปัจจัยที่ 5 สถานการณ์การแพร่ระบาด ในระยะแรก ใช้เกณฑ์ยึดพื้นที่จังหวัดเป็นฐาน แต่ในการเปิดภาคเรียนที่ 2 จะยึดพื้นที่ตำบล อำเภอเป็นฐานในการเปิดเรียน ดังนั้นเขตพื้นที่แต่ละเขตพื้นเขตจะต้องกำหนดพื้นที่สีขาว สีส้ม สีแดง สีแดงเข้ม ภายในเขตพื้นที่อีกครั้งหนึ่งและปัจจัยที่ 6 ต้องเสนอขออนุญาตไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของแต่ละจังหวัด เพื่อให้ทันเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อมใน 5 ปัจจัยแรก

นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้จะต้องผ่านการประเมินทั้ง 6 ข้อ จึงจะสามารถเปิดเรียนได้ และเมื่อเปิดเรียนได้จะต้องมีมาตรการดูแลนักเรียนครู ผู้ปกครอง ให้ปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เช่น การกำหนดระยะห่าง การจัดห้องเรียนไม่เกินห้องละ 25 คน ตลอดจนการสลับวันมาเรียน นอกจากนี้ต้องมีมาตรการตามแผนเผชิญเหตุเพื่อเตรียมการรองรับหากมีการระบาดในโรงเรียนจะดำเนินการอย่างไร โดยร่วมมือกับสาธารณสุข สถานีอนามัย โรงพยาบาลประจำบลได้อย่างไร และหากมีโรงเรียนที่ไม่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้ เขตพื้นที่จะต้องบริหารจัดการแก้ไขให้สามารถเปิดเรียนได้ แต่หากประเมินแล้วเปิดไม่ได้ก็ให้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบอื่นแทน ทั้งนี้การเปิดภาคเรียนไม่ได้เป็นการบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องมาโรงเรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเลือกให้ลูกเรียนอยู่ที่บ้านได้ แม้เปิดเรียนออนไซต์ ก็สามารถเลือกเรียนได้ จนกว่าจะเกิดความมั่นใจ

“สำหรับการเปิดเรียนในช่วงสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สอง ให้เน้นสร้างความเชื่อมั่น และให้เห็นว่ามีความสุข มีความปลอดภัย และขอให้จัดการเรียนการสอนด้วยความผ่อนคลาย ไม่มุ่งเน้นวิชาการมากเกินไป ให้ใช้สองสัปดาห์แรก เป็นช่วงที่สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ และมีความปลอดภัย จากนั้นครูจึงจัดการเรียนการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้เขตพื้นที่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตพื้นที่ ต้องสร้างเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ต้องแบ่งพื้นที่ในการทำงานศึกษารายละเอียด เพื่อที่จะรายงานข้อมูลประจำวันเป็นรายโรงเรียน ร่วมถึงการประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันต่อไป” นายอัมพร กล่าว