นที่ 27 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานแถลงผลการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส 4 ภารกิจหลัก ภายใต้แนวทาง “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมในพิธี ณ อาคารหอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า การศึกษาพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส กระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาของประเทศ ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการศึกษาสำหรับคนพิการ ต้องจัดให้ตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง และสังคมไทยทุกภาคส่วนควรตระหนักว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน โดยการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ตามนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่กล่าวว่า “การศึกษาไทย จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
“กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกประเภท ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งควรได้รับความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนเป็นพิเศษตามสิทธิที่พึงมี เนื่องจากการศึกษามีความสำคัญในการพัฒนานักเรียนทุกคนและพัฒนาประเทศชาติทั้งในมิติด้านคุณภาพ มิติการดำรงชีวิต ที่สำคัญการจัดการศึกษาต้องมีความเหมาะสม เท่าเทียม เสมอภาค และทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศได้อย่างแท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำมาสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนการดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 เดือน ภายใต้แนวคิด “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” โดยดำเนินการใน 4 ภารกิจ ได้แก่
1.ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัด ทำการค้นหาเด็กพิการในวัยเรียนที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่ตกหล่นอยู่ในพื้นที่ต่างๆ และยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา นำเข้าสู่ระบบคัดกรอง ช่วยเหลือ ดูแล หรือส่งต่อให้เหมาะสมกับความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละบุคคล พร้อมจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูล Big Data เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้เด็กพิการทุกคนได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
2.การปรับปรุงคู่มือรายการสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา จากฉบับเดิมปี พ.ศ. 2561 ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้เป็นเอกสารประกอบการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ในการขอรับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาให้กับเด็กพิการ
3.การจัดตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล 85 ศูนย์ กระจายใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เป็นการช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางด้านสุขภาพ ให้สามารถได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วย และสอดคล้องกับการรักษาทางการแพทย์ โดยไม่ต้องลาออกจากสถานศึกษากลางคัน
4.การสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจ เนื่องจากสาธารณชนหรือหน่วยงานภายนอกอาจยังไม่เข้าใจว่าการดูแล ช่วยเหลือ จัดการศึกษาให้กับเด็กพิการหรือเด็กด้อยโอกาสในสถานศึกษาเป็นอย่างไร และเด็กจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว สามารถเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือสามารถประกอบอาชีพได้หรือไม่ จึงต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
“ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ ฟื้นฟูสมรรถภาพหรือเตรียมความพร้อมที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อส่งต่อไปในโรงเรียนปกติทั่วไปหรือโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ได้รับการดูแล ช่วยเหลือ บ่มเพาะด้วยความรัก และได้รับแรงบันดาลใจจากครู ทำให้เด็กก้าวข้ามคำว่าพิการหรือด้อยโอกาสจนประสบความสำเร็จ ซึ่งมีตัวอย่างของบุคคลหลายท่าน ที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสด้วยกัน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังท้อแท้หรือมีความยากลำบากในชีวิตอีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว