วันที่ 25 มกราคม 2562 พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “EDUdigital 2019” เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยี/นวัตกรรมที่ล้ำสมัย เพื่อใช้ในการพัฒนาการศึกษาต่อไป โดยมี นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 450 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2562 ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” โดยยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ พัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงนำเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมให้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สัมฤทธิ์ผล ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการสร้างงานในโลกดิจิทัล การสนับสนุนให้เกิดการผลิตและบริการด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลอย่างเสมอภาคและทั่วถึง ซึ่งครอบคลุมถึงความปลอดภัยไซเบอร์ การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้มีข้อสั่งการ 5 ข้อ ที่ถูกกำหนดให้เป็นแนวทางในการบริหารราชการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. การสร้างการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอินเทอร์เน็ต 2. การส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงระบบดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม 3. การนำวิธีวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Data Analysis มาส่งเสริมการเรียนรู้ 4. การส่งเสริมการศึกษาด้านดิจิทัล และ 5. การรวบรวมข้อมูลด้านการจราจร
ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้จัดประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “EDUdigital 2019” เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยี/นวัตกรรมที่ล้ำสมัย รวมถึงข้อมูลแหล่งเรียนรู้ ครอบคลุมถึงเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ และจุดประกายแนวคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีไปบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งในและนอกชั้นเรียน โดยการจัดเวทีสัมมนาให้ผู้เข้าประชุมเห็นกรอบแนวทาง การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามาพลิกโฉมการศึกษาไทย การป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์ และครูผู้เข้าประชุมจะได้ฝึกปฏิบัติเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้จริงกับนักเรียนทั้งในและนอกชั้นเรียน โดยภายในงานผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับฟังการบรรยายหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ การบรรยาย เรื่อง “นวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยียุค AI โดย ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผอ.โครงการภาครัฐ บ.ไมโครซอฟต์ ประเทศไทย จำกัด / “จะป้องกันตัวอย่างไรให้ปลอดภัยบนโลกไซเบอร์” โดย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอิสระ / “กระบวนการสร้างนวัตกรรมแบบ Google เพื่อพัฒนาการศึกษา” โดย นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บ.กูเกิล ประเทศไทย จำกัด / “ห้องเรียน 4.0 : สอนให้เป็น เน้นให้คิด ผลิตนวัตกรรมด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี” โดย ดร.กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ สพม. เขต 2
นอกจากนั้น ยังมีห้องการเรียนรู้ต่างๆ ที่ให้ความรู้และฝึกทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี อาทิ ห้องเรียน A เรื่อง Coding & Computational Thinking เพิ่มทักษะการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างมีระบบ / ห้องเรียน B เรื่อง Bringing Virtual and Augmented Reality (AR & VR) to every school การนำระบบ AR และ VR มาใช้ในโรงเรียน / ห้องเรียน C เรื่อง “Digital technology enhanced learning” : “เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้” / ห้องเรียน D เรื่อง “Future Classroom Learning” : การเรียนรู้ในห้องเรียนแห่งอนาคต และ ห้องเรียน E เรื่อง Shake up the Classroom : เขย่าห้องเรียนเปลี่ยนการเรียนรู้ เป็นต้น