วันที่ 27 มกราคม 2562 พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลให้แก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ในการใช้จัดทำแผนการดำเนินงานแยกตามภูมิภาคที่รับผิดชอบ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร
ในปีงบประมาณ2562 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีคุณสมบัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คือ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่มีความพร้อมเข้าร่วมการพัฒนา ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน การคมนาคม และการสื่อสารสะดวก มีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ สามารถรองรับการเพิ่มจำนวนนักเรียนได้ในอนาคต รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และผ่านการพิจารณาคัดเลือก กลั่นกรอง ให้ความเห็นชอบ ผ่านกระบวนการประชาคม 3 ระดับ คือ ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ตามลำดับ โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 7,255 โรงเรียน นอกจากนั้น ยังมีแผนที่จะขยายผลไปยังโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาประจำอำเภอ และโรงเรียนพื้นที่พิเศษ (Stand Alone) ตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาการศึกษาไทยในเชิงระบบอย่างแท้จริงเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์จึงมีความจำเป็นต้องจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เพื่อระดมความคิดเห็นและจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ให้ครอบคลุมตามความต้องการของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ และมีการดำเนินงานโครงการไปในทิศทางเดียวกันโดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนขยายโอกาส ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1
ทั้งนี้ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมทั่วประเทศ
ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการจัดการศึกษาของประเทศ สร้างโรงเรียนให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้บริหารและครู มีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้เรียน
โดยทำให้เกิดเป็นรูปธรรมก่อนเปิดเทอม คือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2562 ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ สถานที่ แหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้ บุคลากร จำแนกเป็น 3 ด้านสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการศึกษา และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ซึ่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การดำเนินโครงการบรรลุตามเป้าหมายจึงจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายและการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง
ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยแต่ละหน่วยงานจะมีบทบาทหน้าที่ตามภารกิจและความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้เกิดความเข้มแข็งและบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
ตอนท้ายได้กล่าวย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ไปข้างหน้าร่วมกัน เนื่องจากโรงเรียนเป็นองค์กรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน แนวคิดในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน จึงมีความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นชนบท โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จึงเปรียบเสมือนการได้รับโอกาส การยกย่องเชิดชู เกียรติยศ และความรุ่งโรจน์ ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาให้เป็นหนึ่งในระดับตำบล มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการให้บริการทางการศึกษาตามนโยบาย 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยจะได้รับการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหาร การจัดการสถานศึกษาของภาคีเครือข่ายที่เปรียบเสมือนดาว 5 ดวง ซึ่งเป็นตัวแทนของ เอกชน บ้าน วัด รัฐ โรงเรียน ทั้งนี้เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ
ตลอดจนมีความรู้ ความสามารถตรงกับความต้องการและทิศทางในการพัฒนาประเทศ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางรากฐานของประเทศไทยให้มีความมั่นคงที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป