สพฐ. รวมพลังทีมพื้นที่ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาผ่านศึกษานิเทศก์และทีมหนุนเสริม ตามแนวทางนิเทศเชิงรุก

วันที่ 27 ธันวาคม 2564 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และโฆษก สพฐ. ได้รับมอบหมายจาก นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ให้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของศึกษานิเทศก์ และเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1 โดยมี ศึกษานิเทศก์ทั้งส่วนกลางและในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 2,600 คน พร้อมด้วยคณะกรรมการเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมผู้เข้าประชุมทั้งหมดประมาณ 4,000 คน ผ่านทางระบบออนไลน์ ZOOM Meeting และถ่ายทอดสดผ่าน OBEC Channel

   นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การนิเทศการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติ และการนิเทศเชิงรุกที่ขับเคลื่อนร่วมกับ คณะกรรมการเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาแบ่งเป็นภูมิภาค ร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างเครือข่ายผู้นิเทศ ที่เป็นต้นแบบการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาของตนเอง และสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนเครือข่าย เป็นการนิเทศแบบลงมือปฏิบัติให้เห็นชัดเจนในการร่วมกันขับเคลื่อนในลักษณะเครือข่ายแบบกัลยาณมิตร

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้…สู่อนาคตภาพทางการศึกษา โดยการขับเคลื่อนในระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สู่จุดเน้นสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ด้วยกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้เชิงรุก แบบ Active Learning ผ่านการบูรณาการตัวชี้วัด การบูรณาการข้ามกลุ่มสาระฯ และเติม Attitude and Value ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 มุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนที่หลากหลายทุกระดับชั้น อาทิ การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี ในระดับปฐมวัย และการจัดการเรียนการสอนบนพื้นฐานของแนวคิด จิตศึกษา PBL + PLC  ในระดับประถมศึกษา เน้นการบูรณาการตัวชี้วัดและการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระฯ ผ่านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการลงมือปฏิบัติ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูตามกลุ่มสาระฯ ด้วยสื่อการเรียนการสอนในระบบ DLTV ของโรงเรียนขนาดเล็ก แต่สามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพสูงขึ้นในเชิงประจักษ์

ส่วนในระดับมัธยมศึกษานั้นมีตัวอย่างการจัดการเรียนการสอน Active learning แบบ GPAS 5 Steps + PLC สู่การพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย และที่สำคัญการจัดการเรียนการสอนแบบ STEAM ที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางของการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระฯ ได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งภาพความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง ทั่วประเทศ การส่งเสริมทักษะด้านกีฬา และดนตรี ในห้องเรียนพิเศษด้านกีฬาและดนตรี ทุกสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณภาพที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่นั้นมีอยู่มากมาย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการหนุนเสริมเติมต่อคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศเชิงรุก จากศึกษานิเทศก์ของพื้นที่และเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา ซึ่งบทบาทสำคัญของเครือข่ายดังกล่าว มีหน้าที่เป็นต้นแบบในการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสู่สถานศึกษา การสร้างเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา การร่วมมือและสนับสนุนการนิเทศร่วมกับศึกษานิเทศก์ในเขตพื้นที่ เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนและสนับสนุนงานตามนโยบาย เตรียมพร้อมในการรับการประเมิน และเป็นต้นแบบการนิเทศ

“ความสำคัญอีกประการหนึ่งของการเป็นผู้นำทางวิชาการและการบริหารการศึกษาคือการปรับ Mindset ของผู้นำ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเรือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาแนวคิดตัวอย่างจาก นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นของการสะท้อนคิด “ผู้นำ…สำคัญที่ Mindset” แสดงให้เห็นถึงแนวคิดพื้นฐานของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มุ่งสู่การสร้างเป้าหมายความสำเร็จของสถานศึกษาด้วยการ “ปลดรั้ว หลอมใจ ใส่คุณภาพ” ทั้ง 3 ด้าน ด้วยการสร้างคลังครู คลังแหล่งเรียนรู้ และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน นำไปสู่การสร้างโรงเรียนคุณภาพ นักเรียนคุณภาพ และครูคุณภาพ ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของชุมชน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุม นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้เพิ่มแนวคิดภาพรวมของ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. (ฐานสมรรถนะ) ที่เน้นสมรรถนะหลัก และผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับการทดลองใช้ในโรงเรียนของเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 265 โรงเรียน ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งเช่นกัน และได้กล่าวถึงแผนการเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนประวัติศาสตร์วิถีใหม่ ในรูปแบบของ Webinar 12 เดือน ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาครูและการขับเคลื่อน Active Learning ของ สพฐ. ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ สำหรับครูที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือสนใจในการพัฒนา

พร้อมกันนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายพิเศษในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “การขับเคลื่อนการนิเทศเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ” โดย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ., หัวข้อ “การพัฒนาเว็บไซต์และแพลตฟอร์มการนิเทศการศึกษาในยุค New Normal” โดย ศน.อานนท์ วงศ์วิศิษฎ์รังสี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพม.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ, หัวข้อ “แนวทางการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดย ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการ สสวท. และ ดร.เขมวดี พงศานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเครือข่ายและพัฒนาครู สสวท., หัวข้อ “การจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) กับภารกิจนิเทศการศึกษา” โดย ศน.ยืนยง ราชวงษ์ ข้าราชการบำนาญ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ และหัวข้อ “การพัฒนาการนิเทศการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565” โดย ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ. และ ศน.รวิภัทร เหล่าคุ้ม ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ซึ่งเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่สถานศึกษาถึงผู้เรียนไปพร้อมๆ กันโดยทีมพี่เลี้ยง โดยศึกษานิเทศก์และทีมหนุนเสริมให้เกิด impact การเปลี่ยนแปลง แข็งแรงคุณภาพที่พื้นที่ ตามเป้าหมายความสำเร็จของ รมว.ศธ. นางสาวตรีนุช เทียนทอง