สพฐ. ลุยไม่แผ่ว  Active Learning กับ ONE TEAM 5 สำนักจัดเต็มอีก 1 ภูมิภาค

วันที่ 11 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” โดยมีคณะทำงาน ONE TEAM ประกอบด้วย ผอ.สวก., สทศ., สบว., สบน., ศนฐ., และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมบรรยายและจัดกิจกรรมกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ นำโดย นายอนันต์ศักดิ์ ภูพลผัน ผอ.สพม.กาญจนบุรี พร้อมด้วยโรงเรียนในสังกัด สพม.กาญจนบุรี จำนวน 29 โรงเรียน มีบุคลากรเข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระ 8 กลุ่มสาระ รวมถึงคณะครูและบุคลากรโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมอบรม รวมทั้งสิ้น 515 คน ณ หอประชุมโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตนขอแสดงความชื่นชมในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดกาญจนบุรี ที่นำทีมโดยประธานเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี และคณะผู้อำนวยการของทุกโรงเรียน ที่เห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณสมบัติเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมและกระบวนการเชิงรุก ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) ซึ่งทุกโรงเรียนมีความเห็นสอดคล้องกันในการพัฒนาและปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยใช้สมรรถนะของผู้เรียนเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่ทุกโรงเรียนในสังกัด สพม.กาญจนบุรี ได้ส่งคณะครูและบุคลากรเข้ารับการอบรมเพื่อนำความรู้ไปปรับและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการจัดการอบรมในครั้งนี้ รวมถึงผู้บริหารและบุคลากรจากโรงเรียนในสังกัด สพม.กาญจนบุรี ทุกท่าน ที่ได้ให้ความร่วมมือและความตั้งใจในการพัฒนาการศึกษาสู่เป้าหมายเดียวกัน มีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง บูรณาการการทำงานโดยเห็นแก่ประโยชน์ของผู้เรียนสูงสุด ทางคณะทำงาน ONE TEAM ของเราพร้อมให้การช่วยเหลือ ให้ข้อเสนอแนะ เติมเต็ม เสริมหนุนในสิ่งที่โรงเรียนและบุคลากรยังขาดอยู่ พร้อมทั้งรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดีซึ่งพบจากการประชุมในครั้งนี้ นำไปเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีให้กับโรงเรียนในภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นายอนันต์ศักดิ์ ภูพลผัน ผอ.สพม.กาญจนบุรี กล่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาญจนบุรี (สพม.กาญจนบุรี) มีจุดเน้นสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษารอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพด้านผู้เรียนที่เราให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ดังนั้น เครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนำโดยนายหงษ์ดี ศรีเสน ผู้อำนวยการโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ประธานเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการปรับการเรียนรู้สู่สมรรถนะด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) ในระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2565 เพื่อให้ทุกโรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี มีความเข้าใจในแนวทางการนำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) เป็นฐานในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาจะใช้ในโรงเรียนต่อไป  จุดเด่นของการจัดการอบรมครั้งนี้ สพม.กาญจนบุรี เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนในระดับสถานศึกษา ลงสู่ห้องเรียน ด้วยความหลากหลายของ Active Learning และ การบูรณาการตัวชี้วัดและข้ามกลุ่มสาระฯ จึงได้ให้ครูตัวแทนกลุ่มสาระฯ ทุกกลุ่มสาระฯ ทุกโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม เพิ่อร่วมกัน ออกแบบ หน่วยการเรียนรู้บูรณาการผสานตัวชี้วัด “แบบเรียนน้อยรู้มาก…จาก Active Learning สู่สมรรถนะผู้เรียน” ครูผู้สอนทุกคนต่างให้ความสนใจในการจัดกิจกรรมและร่วมกันออกแบบเพื่อนำไปเป็นโมเดลเริ่มต้นในการขับเคลื่อนระดับสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังมีหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ร่วมกิจกรรมกับรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาก าร ถือว่าเป็น key man สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษา พร้อมทั้ง พื้นที่โดยศึกษานิเทศวางแผนติดตาม เป็นพี่เลี้ยงในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไว้อย่างเข้มข้น  โดยการอบรมในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากโรงเรียนในสังกัด สพม.กาญจนบุรี เป็นอย่างมาก มีโรงเรียนที่ส่งบุคลากรเข้าร่วมการอบรมถึง 29 โรงเรียน ซึ่งคณะผู้จัดงานคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และนำไปพัฒนางานของตนเองให้มีคุณภาพต่อไป รวมทั้งส่วนกลาง One Team จะติดตาม สนับสนุน แบบกัลยาณมิตร ร่วมขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายผู้เรียนไปตามตัวชี้วัดคุณภาพของ สพฐ. ต่อไป