สพฐ. ลุยวิเคราะห์ RT และ NT เพื่อพัฒนา เติมความพร้อมผู้เรียนและครู มุ่งสู่คุณภาพการศึกษาระดับชาติ

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการนำผลการประเมิน RT และ NT ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล รวมถึงปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเชื่อมโยงระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยมีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการศึกษา และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ทางคณะกรรมการได้ร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนใน 5 ประเด็น คือ 1. ส่งเสริมให้ครูผู้สอนนำผลการประเมินมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการคัดกรองผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องพัฒนา และทำการวินิจฉัยข้อบกพร่องทางการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน รวมทั้งวางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล

2. สื่อสารสร้างความเข้าใจให้ผู้บริหารและครูผู้สอนวิเคราะห์หาจุดที่ต้องพัฒนาในระดับห้องเรียนและสถานศึกษาจากผลการประเมิน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนผ่านระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยเริ่มจากกำหนดจุดเน้น/เป้าหมายในการพัฒนา การกำหนดแผนงาน/โครงการในแผนปฏิบัติการประจำปี และแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา พร้อมกำกับและติดตามผลการดำเนินงาน

3. จัดหาสื่อและนวัตกรรมที่ช่วยครู ในการยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ได้แก่ คู่มือการวินิจฉัยความสามารถในการอ่านออกเสียง แบบประเมินเพื่อวินิจฉัยคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร รวมถึงโปรแกรมคลังข้อสอบมาตรฐานแบบออนไลน์ และโปรแกรมการทดสอบ PISA Style Online เป็นต้น

4. นำผลการประเมินมาเชื่อมโยงและวางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการประเมินคุณภาพผู้เรียนในระดับนานาชาติ (PISA) โดยเริ่มจากใช้ผลการประเมิน RT ในการพัฒนาความสามารถในการอ่านรู้เรื่อง ในระดับชั้น ป.1 นำไปสู่การนำผลการประเมิน NT หรือ O-NET ที่มีผลของนักเรียนบางคนที่สอบมาเป็นฐานในการช่วยวิเคระห์และนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน ในระดับชั้น ป.3 และ ป.6 ซึ่งเป็นสมรรถนะที่สำคัญในการทดสอบ PISA ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นอกจากนี้ ผลการทดสอบ PISA และความสามารถด้านการอ่าน ยังเป็นตัวชี้วัดด้านการศึกษาในการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน IMD อีกด้วย

5. คัดเลือกสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาที่มีผลการปฏิบัติเป็นเลิศ (Best Practice) ในการนำผลการประเมิน RT, NT และ O-NET ไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งนี้ สพฐ. ขอเน้นย้ำว่าการประเมินดังกล่าวไม่ได้ต้องการให้เด็กเคร่งเครียดกับการสอบ แต่เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานในการเติมและเพิ่มการพัฒนาความสามารถพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งในด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) เพื่อได้ทราบข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล และทราบถึงสาระการเรียนรู้ที่ต้องปรับปรุงและพัฒนา นำข้อมูลไปสู่การปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนในปีการศึกษาถัดไป อีกทั้งทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รู้จุดที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาผู้เรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ทาง สพฐ. เองก็จะเดินหน้าขับเคลื่อนการนำผลประเมินนี้ไปใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และในภาพรวมระดับประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว