One Team สพฐ. ติดตาม 2 เขต ทะลุเป้า Active Learning

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ในการติดตามการดำเนินการขับเคลื่อน Active Learning ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิจิตร และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 จากเฟสที่ 1 ที่มีครูยังไม่ได้รับการพัฒนา Active Learning จำนวน 104 คน และ 180 คน ตามลำดับ และได้ดำเนินการพัฒนาจนครบ 100% ภายในเดือนกรกฎาคม ครบถ้วนตามเป้าหมาย โดยมีคณะทำงาน ONE TEAM ประกอบด้วย ผอ.สวก., สทศ., สบว., สบน., ศนฐ. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนในครั้งนี้ด้วย

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ศึกษานิเทศก์เป็นกำลังสำคัญในการนำสิ่งที่ถูกต้องและสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาจากส่วนกลาง จากเขตพื้นที่ ลงสู่สถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น Growth Mindset จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นพี่เลี้ยงให้ครูในโรงเรียน นำพาครูบูรณาการ ผสมผสานเพื่อให้เกิดคุณภาพถึงนักเรียน ทั้งนี้ การพัฒนา Active Learning ของทั้งสองเขตพื้นที่ในเฟสที่ 1 จนครบ 100% เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และสมควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เขตพื้นที่อื่นๆ ได้นำไปพัฒนาการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของตัวเองต่อไป

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโครงสร้างเวลาเรียนและหน่วยกิต ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้ สามารถยืดหยุ่นและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของสถานศึกษาได้ โดยจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาตามจุดเน้นตามบริบท ซึ่งเน้นการบูรณาการจากตัวชี้วัด สามารถย่นระยะเวลาจากเวลาเต็มตามโครงสร้างให้มีเวลาเพียงพอในการพัฒนานักเรียนได้ ซึ่งศึกษานิเทศก์คือบุคคลสำคัญในการสร้างศรัทธาให้กับครู ส่งไปถึงตัวนักเรียน เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในห้องเรียน โดยอุปสรรคไม่ใช่ตัวชี้วัด แต่เป็นเนื้อหาที่ติดตัวชี้วัด ดังนั้น ศึกษานิเทศก์ต้องเป็นผู้ที่พาครูขับเคลื่อนและทำให้เห็นผลจริง ซึ่งการเรียนรู้ Active Learning จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นไปตามจุดประสงค์รายชั่วโมงของแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ โดยการลดภาระชิ้นงาน ก็จะทำให้นักเรียนมีเวลาในการสร้างสรรค์ชิ้นงานของตนเองได้ ดังจะเห็นได้จาก สพม.พิจิตร ที่เป็นเขตพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อน Active Learning อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ ด้วยรูปแบบการนิเทศ “APDRA MODEL” ซึ่งมีการบูรณาการในรายวิชาพื้นฐาน ทั้งการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล ด้วยบริบทท้องถิ่นในอำเภอของนักเรียน

“จะเห็นได้ว่าเราสามารถใช้แหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวเป็นแหล่งเรียนรู้บูรณาการให้นักเรียนได้เลือก และแสวงหาจากสิ่งที่นักเรียนต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม ในจุดนี้ขอชื่นชมตั้งแต่ผู้อำนวยการเขตฯ รองผอ.เขตฯ และศึกษานิเทศก์ ทั้ง สพม.พิจิตร และสพป.พิจิตร เขต 1 ที่ได้เห็นความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และได้พัฒนาขับเคลื่อนได้ครบ 100% รวมถึงให้กำลังใจกับศึกษานิเทศก์ที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็มีการสร้างเครือข่ายในระดับสหวิทยาเขต และกลุ่มโรงเรียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในความเป็นผู้นำทางวิชาการค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายในปัจจุบันของส่วนกลาง ส่วนสำคัญคือศึกษานิเทศก์ เพื่อเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนคุณภาพร่วมกับครูในโรงเรียน ซึ่งเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่กำลังขับเคลื่อนกับเขตพื้นที่ต้นแบบ 7 จุด อย่างเต็มรูปแบบนั้น เพื่อให้เกิดสมรรถนะ ด้วย Ultimate Outcome จาก Output จากการจัดการเรียนรู้ภายในชั่วโมง แต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากมาตรฐานและตัวชี้วัด

ขณะที่ นายชนาธิป ทุ้ยแป ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา กล่าวเสริมว่า ในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนนั้น ครูต้องเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของตนเองมาเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำปรึกษากับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง จนเกิดเป็นสมรรถนะในที่สุด