รมช.ศธ. ลงพื้นที่ จ.สงขลา เปิดโครงการ พร้อมบรรยายพิเศษการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างการรับรู้การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความสำเร็จในการพัฒนาองค์กร” แนะทุกภาคส่วนน้อมนำศาสตร์พระราชามุ่งพัฒนาการศึกษา สู่การพัฒนาประเทศชาติในทุกมิติ

วันนี้ (27 ก.พ. 62) ณ โรงแรมแรมหาดแก้วรีสอร์ท สงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมบรรยายพิเศษของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างการรับรู้การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความสำเร็จในการพัฒนาองค์กร” โดยมี นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี , ผู้บริหารการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ในเขตพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้,ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยากร และบุคลากรศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมให้การต้อนรับ และเข้าร่วมโครงการอย่างพร้อมเพรียงกัน

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาในทุกมิติ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติสุขโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการสร้างการ
สร้างรับรู้ ข้อมูลที่ทำร่วมกันมา ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่าที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนมีส่วนผลักดันขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยกำหนดให้ปีการศึกษา 2562 เป็นปีแห่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับการศึกษาให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่น โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาอันมีคุณค่ายิ่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งหลักการทรงงาน 23 ข้อ ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” พระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ แม้กระทั่งด้านการศึกษา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญของชาติประเทศจะมีความเจริญ หรือเสื่อมนั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นหลัก ดังนั้นต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยพระราชทานไว้เมื่อ ปี 2512 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เดินสายกลาง ความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี ควบคู่ความรู้และคุณธรรม ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธาน ที่จะทรงรักษา สืบสาน รักษา ต่อยอด ในศาสตร์พระราชา ของรัชกาลที่ 9 แม้กระทั่งการศึกษา สอดคล้องพระบรมราโชบาย 4 ประการของในหลวงรัชกาลที่ 10 มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง , มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม , มีงานทำ มีอาชีพสุจริต และเป็นพลเมืองดี ทุกภาคส่วนมีบทบาทที่สำคัญ ดังยุทธศาสตร์ชาติ เรียนเก่ง เรียนดี มีคุณภาพ โดยให้องค์กรหลักในพื้นที่ดำเนินการในทุกเรื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ ดังเช่น ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่าที่ผ่านมา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพการศึกษาที่เข้มแข็งขึ้น
ด้าน นายวาทิต มีสนุ่น ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานทางการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งโครงสร้างการปฏิบัติงานเป็น 7 กลุ่มงาน คือ กลุ่มอำนวยการและประสานงาน กลุ่มคลังและสินทรัพย์ กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มบริหารงานบุคคล กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษา กลุ่มส่งเสริมประสานงานการศึกษาวิชาชีพและมีงานทำ กลุ่มติดตามและประเมินผล บุคลากรที่ปฏิบัติงานแต่ละกลุ่มงาน มาจากหลายหน่วยงาน มีประสบการณ์ และทักษะการทำงานที่ต่างกัน การสร้างการรับรู้ของบุคลากร จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรจะต้องมีการพัฒนาและปรับให้มีความเหมาะสม กับยุคสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา พัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ พัฒนาความสามารถ และการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เป็นเรื่องที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความสำเร็จในการพัฒนาองค์กร ขึ้นเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานบุคลากร เพื่อเพิ่มศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดกการองค์กร สร้างความแข็งแกร่งในการทำงานเป็นทีมได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมบุคลากรมีการแลกเปลี่ยนทรรศนะ ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และนำรูปแบบแนวทางการปฏิบัติงานจากประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้บุคลากรสามารถปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อค่านิยมที่พึงประสงค์ มีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น และมีจิตมุ่งบริการที่ดี เกิดการเสียสละมีน้ำใจให้กันและกัน และเพื่อเสริมสร้างความผาสุก และขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรในศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีความพร้อมในการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

{พงศ์สัณห์/ภาพ,ศปบ.จชต./ข่าว}