วันที่ 2 มีนาคม 2562 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2561 ณ โรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าสอบ จำนวน 848 คน
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันว่าการสอบโอเน็ตเป็นการสอบที่มีความสำคัญมาก เป็นการสอบวัดความรู้ ซึ่งล่าสุดทาง สทศ. และ สพฐ. ได้เพิ่มการวัดเชิงคิดวิเคราะห์ด้วย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551 ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยใช้เป็นเกณฑ์จบของนักเรียน ใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียนและระดับชาติ ส่วนตัวคิดว่าทาง สทศ. ได้พัฒนาข้อสอบให้สามารถวัดและวิเคราะห์ภาพรวมของการศึกษาในระดับประเทศ ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้นมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในภาพรวมของทั้งประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก อย่างเช่นโรงเรียนที่อยู่ในเมืองใหญ่จะมีผลการสอบโอเน็ตอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยค่อนข้างดีกว่าโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเองมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั่วประเทศมาโดยตลอดเช่นกัน ดังที่ผ่านมาได้เห็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อการศึกษามีหลายโครงการที่จะดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนโครงการที่ ศธ. ได้ทำไปแล้ว ขอยกตัวอย่างโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่ ศธ. เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ และชุมชน เข้ามาร่วมบริหารจัดการโรงเรียนเพื่อพัฒนาการศึกษาร่วมกัน
ในส่วนของการสอบ เรื่องการประเมินผลต้องเน้นความถูกต้องและเป็นธรรม จากที่วันนี้ได้มาตรวจดูทุกขั้นตอนพบว่ามีการจัดการอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างมาก ซึ่งการประเมินผลจะเป็นตัวสะท้อนกลับไปถึงการดำเนินการว่าทำได้ดีหรือไม่ โดยตนได้มอบนโยบายให้ทาง สทศ. ว่าการประเมินผลต่อไปในภายภาคหน้าต้องมีการลงลึกมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนไป โดยการวัดแค่ความรู้นั้นไม่เพียงพอ ในอนาคตต้องวัดถึงสมรรถนะด้วย เพราะต่อไปการเรียนรู้ในทุกระดับต้องอิงกับฐานสมรรถนะ เนื่องจากความรู้ใช้เวลาไม่กี่ปีก็ล้าสมัยแล้ว ดังนั้นต่อไปข้อสอบของ สทศ. จะต้องปรับให้วัดสมรรถนะได้ วัดการคิดวิเคราะห์ได้ คาดหวังว่าต่อไปจากที่มีการสอบหลายรูปแบบ ควรจะเหลือเพียง 1-2 รูปแบบเท่านั้น ที่สามารถวัดได้ทุกอย่างที่เราต้องการ นอกจากนั้น การวัดหรือประเมินผลจะต้องทำได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ทำเฉพาะที่เรากำหนด 1-2 ครั้งต่อปี และนักเรียนควรจะตรวจสอบตัวเองได้ว่าอยู่ขั้นไหนแล้ว นั่นคือเป็นการสอบแบบ Digital-based หรือ Internet-based ซึ่งตรงนี้ทาง สทศ. กำลังพัฒนาอยู่
สำหรับการสอบ O-NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2561 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2562 โดยมีการสอบ 5 วิชา ได้แก่ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดสอบใน 18 ศูนย์สอบทั่วประเทศ มีสนามสอบทั้งสิ้น 396 สนาม มีห้องสอบ 15,904 ห้อง โดยมีนักเรียนที่มีสิทธิ์สอบ จำนวน 387,916 คน ทั้งนี้ จะมีการประกาศผลสอบในวันที่ 31 มีนาคม 2562 ทางเว็บไซต์ของ สทศ. ต่อไป
บรรพต ข่าว