สพฐ. ประชุมวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 10 : 10th NCSE 2022 Hybrid Conference

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 10 : 10th NCSE 2022 Hybrid Conference ในหัวข้อ “Smart Special Education toward Inclusive Society: Empowering Learners, Families and Prossionals.” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2565 โดยเป็นการประชุมรูปแบบไฮบริด ผสมผสานระหว่างในห้องประชุมและระบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม ZOOM Meeting

นายอัมพร ได้กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในโลกที่มีการแข่งขันสูง การศึกษาได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ที่นอกเหนือจากปัจจัย 4 การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพนอกจากจะเป็นสิ่งจำเป็นในการประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตแล้ว การศึกษายังช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของคนให้มีมาตรฐานทางร่างกายและจิตใจ และเปลี่ยนสถานะความเป็นอยู่ของคนได้ นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บุคคลสามารถเข้าถึงสิทธิอื่นๆ มีอาชีพที่ดี และสามารถเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสภาพภูมิอากาศได้

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) ที่สำคัญ คือ เป้าหมายที่ 4 “การศึกษาที่มีคุณภาพ และเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน” โดยงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางของคุณภาพครูในผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ ซึ่งแท้จริงแล้วการเข้าถึงครูและการสอนที่มีคุณภาพจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้น การเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม และการเรียนร่วมที่แท้จริงมากขึ้นเหล่านี้ คือเหตุผลที่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4c คือ “เพิ่มจำนวนครูที่มีคุณภาพ” ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุ SDG 4 อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างมาก เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนทุกคนได้รับการสอนโดยครูที่มีคุณภาพทั้งทางด้านความรู้ ประสบการณ์ และทักษะการสอน

สพฐ. จำเป็นต้องสร้างสรรค์แนวทางที่หลากหลาย เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคน รวมทั้งนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการสอนโดยครูที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสม แต่ด้วยผลจากการระบาดใหญ่ของโควิด–19 ได้เน้นย้ำถึงปัญหาที่มีอยู่รวมทั้งระบบการศึกษาของประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ และเป็นสิ่งท้าทายต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายที่ 4 หรือ SDG 4 อย่างไรก็ตาม วิกฤติดังกล่าวได้ช่วยเผยให้เห็นถึงความทุ่มเท ความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของครู เพื่อประสิทธิผลที่ดีในการสอน

ทั้งนี้ จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน แต่การเรียนรู้ของนักเรียนก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เหตุผลสำคัญคือครูได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน คุณครูได้เรียนรู้วิธีการปรับโหมดการจัดการศึกษาทางเลือก และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในการสอน นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจว่า ครูต้องได้รับการพิจารณาและให้คุณค่าในลักษณะที่ตระหนักถึงภารกิจพื้นฐานของพวกเขาในฐานะคนกลาง และผู้อำนวยความสะดวกด้านความรู้ โดยครูคือผู้ให้ความรู้แก่พลเมืองไทยรุ่นต่อไป ทั้งนักคิด นักวิทยาศาสตร์ และผู้นำ ด้วยความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ รวมทั้งในประเด็นภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) เราจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปที่การสร้างการเรียนรู้ให้กลับมาและดีขึ้น (Build Back Better)

“สพฐ. เล็งเห็นว่าการกำหนดนโยบายการศึกษาจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับระบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครู ควบคู่ไปกับการสนับสนุนครู ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอุดมศึกษาที่เพียงพอด้วยเครื่องมือ และแนวทางการสอน รวมทั้งกลไกการสนับสนุนทางสังคมและอารมณ์ เครือข่ายร่วมพัฒนาสร้างความมั่นใจว่าการสอนเป็นอาชีพที่มีคุณค่า และผู้เรียนทุกคนได้รับการสอนโดยครูที่มีคุณสมบัติ มีแรงจูงใจ และมีอำนาจภายในระบบที่มีทรัพยากรเพียงพอ มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และบรรลุการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียมสำหรับทุกคน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขอบคุณภาพ : ประสิทธิโชค ไพบูลย์สิทธิ์ พนักงานราชการ สศศ.สพฐ.