วันที่ 4 มีนาคม 2562 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนร่วมพัฒนา partnership School project ณ โรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นแนวคิดการสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบันที่สนับสนุนทรัพยาการและมีส่วนร่วม ในการบริหารให้กับสถานศึกษา ซึ่งเป็นส่วนขยายของสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในเป้าหมายการพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การพัฒนาครู การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ขณะที่โรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์มีนักเรียนทั้งหมด 147 คนมีจำนวนห้องเรียน 11 ห้อง บุคลากรทั้งหมด 17 คน ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนายสุพรรณ์ แก้วนิสสัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทมิตรผล ร่วมพัฒนานวัตกรรมใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย รวมถึงการพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ
รมช.ศธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่โรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ครั้งนี้เป็นการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ซึ่งโรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งเดิม โรงเรียนได้อยู่ในโครงการโรงเรียนประชารัฐ โดยมีบริษัทมิตรผลให้การสนับสนุนเพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาโดยเข้ามาเป็นกรรมการบริหารสถานศึกษา ช่วยเหลือในการขับเคลื่อนบริหารจัดการโรงเรียนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะความคิดในเชิงภาคเอกชน จะเป็นประโยชน์ ทำให้การทำงานมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ
“โรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งกระทรวงศึกษาธิการพยายามจะยกระดับคุณภาพด้านการศึกษาโดยตั้งเป้าไว้อยากให้มีโรงเรียนในทุกเขตพื้นที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันทั้งหมด คือการส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนในพื้นที่ก็ได้ผลเหมือนเรียนโรงเรียนในเมือง แต่ในช่วงแรกอาจยังทำไม่ได้ทุกโรงเรียน โดยจะเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพมาเป็นโรงเรียนต้นแบบก่อน โดยโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาในปัจจุบันดำเนินการเป็นรุ่นที่ 2 โดยในรุ่นแรกมีโรงเรียนในโครงการ 50 โรงเรียน และปัจจุบันรุ่นที่ 2 มีโรงเรียนในโครงการ 189 โรงเรียนครอบคลุมทั้งหมด 77 จังหวัด
นอกจากนี้ในส่วนของการเรียนรู้ยังต้องการให้มีการปรับหลักสูตร เพื่ออนาคต ซึ่งเป็นหลักสูตรเพื่อเตรียมอาชีพ เตรียมทักษะชีวิตใหม่ให้กับลูกหลาน ที่จะต้องเผชิญกับอนาคตข้างหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในยุคศตวรรษที่ 21 โดยให้มีการปรับการเรียนในห้องเรียนให้ลดลง เน้นการเรียนในสถานที่จริง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เช่น การเรียนในแปลงเกษตร การเรียนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญ
เพราะการเรียนในสถานที่จริง เป็นการกระตุ้นให้เกิด การเรียนรู้ เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะต้องนำไป สร้างนวัตกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและ กระทรวงศึกษาธิการ ให้อิสระในการบริหารใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ กระทรวงศึกษาธิการก็จะลดบทบาทลง โดยเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจนี้ แต่จะไม่ควบคุมดูแลทั้งหมด เพื่อร่วมกันพัฒนาให้ ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้เหมือนกัน และ เป็นการวางพื้นฐานให้คนรุ่นใหม่เป็นคนที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการยกระดับประเทศไปสู่ระดับนานาชาติต่อไป” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว ชมคลิปกิจกรรม
บรรพต ข่าว