สพฐ. One Team เคลื่อนคลัสเตอร์ 7 ยกระดับการศึกษา 12 เขตพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้

วันที่ 17 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านระบบ Zoom Meeting พร้อมด้วย One Team สพฐ. ได้แก่ นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นายชนาธิป ทุ้ยแป รก.ผอ.สำนักทดสอบทางการศึกษา นางรวิภัทร เหล่าคุ้ม รก.หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ และคณะทำงาน โดยมีผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และตัวแทนครูแกนนำ จากเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 7 (สพป.นราธิวาส เขต 1-3 , สพป.ยะลา เขต 1-3, สพป.ปัตตานี เขต 1-3, สพม.ยะลา, นราธิวาส และปัตตานี) จำนวน 280 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ณ โรงแรมตันหยง อ.เมือง จ.นราธิวาส และถ่ายทอดสดผ่านยูทูบ สพป.นราธิวาส เขต 3

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ผู้บริหาร ครู ต้องช่วยกัน วางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้เข้าถึงความรู้อย่างมีความหมาย เรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมต่อยอดการเรียนรู้จนออกมาเป็นความสามารถ และได้รับการบ่มเพาะคุณลักษณะผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยช่วยกันรวบตัวชี้วัด ตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน ทำหน่วยบูรณาการที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เพื่อนักเรียนสนุกต่อการเรียนรู้แบบ Active Learning ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของหลักสูตรชาติ 3 ด้าน มาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ประการ และ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ 8 ประการ ที่ต้องทำให้เกิดกับเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดโรงเรียนใดก็ตาม ต้องได้รับการเติมเต็ม ซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ถึงและเกิดกับเด็กทุกคน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ ผอ และครูทุกคนในโรงเรียน

ในการจัดกิจกรรมการเรียน การสอน หากนักเรียนได้มีส่วนร่วม ทั้งร่วมกันคิด ร่วมกันทำ จะเกิดภาพจำและประสบการณ์ ที่มีประโยชน์กับนักเรียนยากที่จะลืมเลือน ดีกว่าการให้นักเรียนนั่งฟังโดยไม่มีส่วนร่วมใดๆ เลย ไม่นานก็ลืมและเหนื่อยต่อการต้องจำแบบไม่เชื่อมโยง ไม่เข้าถึงแก่นการนำไปใช้ นอกจากนั้นการใช้แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ  นอกห้องเรียน เมื่อไปแล้วไม่ใช่แค่ทัศนศึกษาแต่ต้องสามารถใช้แทนห้องเรียนได้ เพราะถือว่าเป็นการ Apply อย่างมีความหมาย พร้อมในการต่อยอดถึง Create รวมถึงครูต้องให้นักเรียนได้รับความรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ตามแผนการสอนรายคาบทุกคน ต้องบันทึกหลังสอน เพื่อนำข้อมูล ปัญหา มาวิเคราะห์และพัฒนานักเรียนให้ได้รับความรู้เท่าเพื่อนและสนุกต่อการเรียนรู้ มีความสุขเมื่อมาโรงเรียน

สิ่งที่ One Team จะดำเนินการต่อไป คือติดตามการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 : ภายใน 1 เดือน หลังการอบรม ให้โรงเรียนจัดทำและส่งแผนการขับเคลื่อนระดับโรงเรียน ครูแกนนำจัดทำและส่งตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้ Active learning แบบบูรณาการของครูแกนนำ และ สพท. ส่งแผนการนิเทศ

ระยะที่ 2 : ภายใน 2-3 เดือน หลังการอบรม ให้ครูเครือข่ายส่งหน่วยและแผนการจัดการเรียนรู้ Active learning แบบบูรณาการ พร้อมทั้งนำไปจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน และ สพท. ติดตามการจัดการเรียนรู้ Active learning แบบบูรณาการอย่างน้อย 2 ครั้ง (on site 1 ครั้ง และ online 1 ครั้ง) โดย สพฐ. ติดตามผลผ่านระบบ online

และระยะที่ 3 : ภายใน 4-5 เดือน หลังการอบรม ให้ สพท. ติดตามผลการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน จัดการนำเสนอผลงานนักเรียน ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศของครู และการบริหารจัดการของสถานศึกษา แบบ on site โดย สพฐ. จะติดตามผลการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนอย่างใกล้ชิด

“สพฐ. ให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษาในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงความร่วมมือกันของจังหวัดชายแดนใต้เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาในทุกๆ ด้านเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ เลขาธิการ กพฐ. นอกจากนั้น สิ่งที่ขอชื่นชมคือความตั้งใจของผู้บริหารของเขตพื้นที่การศึกษาที่รวมทั้งคลัสเตอร์ 7 ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามนโยบายของ ศธ. อย่างเป็นรูปธรรม และการร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยมีพี่เลี้ยง One Team สพฐ. มาร่วมขับเคลื่อนและติดตามเพื่อเป็นต้นแบบต่อไป นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาให้ครบ 100% ในเดือนกันยายน ซึ่งตอนนี้ถือว่าได้ดำเนินตามแผนที่กำหนดไว้ ต้องขอบคุณทุกเขตพื้นที่ที่ร่วมกันพาการขับเคลื่อน กระเพื่อม AL ไปทั้งประเทศพร้อมๆ กันลงสู่นักเรียน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว