สพฐ. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 โรงเรียน เคลื่อน Active Learning เสริมอัตลักษณ์ สร้างจุดแข็งเฉพาะตัว

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมคณะทำงาน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ ในการพัฒนาการจัดการศึกษาระหว่างโรงเรียนทหารบกอุปถัมภ์ (โยธินวิทยา) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 โรงเรียนวัดเขาวัง (แสงช่วงสุวนิช) และโรงเรียนอนุบาลราชบุรี โดยมีผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และคณะทำงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

โดยนางเกศทิพย์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ คือ ทางโรงเรียนควรจะหาอัตลักษณ์ของตนเองให้เจอ เพื่อเสริมจุดแข็ง และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งอัตลักษณ์นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะด้านวิชาการเท่านั้น แต่อาจจะเป็นเรื่องของภาษา ดนตรี หรือกีฬาก็ได้ หรือหลายๆทักษะก็ได้ตามความถนัดและความสนใจของนักเรียน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องปรับการเรียนรู้ให้เป็นรูปแบบ Active Learning และต้องบูรณาการเพื่อลดเนื้อหา/ ตัวชี้วัด ที่มีความซ้ำซ้อน เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้คิดและแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างจุดเด่น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการ คุณลักษณะฯ สมรรถนะ และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนทุกคน อีกทั้งการวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนานักเรียนให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น การวิเคราะห์พหุปัญญา การวิเคราะห์ EQ การวิเคราะห์ LD เพื่อเติมประสบการณ์ที่ขาดให้กับนักเรียนได้ ก้าวข้าวผ่านความเสี่ยงที่จะเป็น LD และการประเมินสุขภาพ โดยเมื่อวิเคราะห์แล้ว จะต้องมีการจำแนกนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อเติมเต็มสิ่งที่นักเรียนควรจะเรียนรู้เพิ่ม ตรงตามความจำเป็นและความถนัดของแต่ละบุคคล การวิเคราะห์ในเรื่องความเข้มแข็งของแต่ละโรงเรียนเพื่อการแบ่งปัน เช่น โค้ชกีฬา เกษตรเพื่อเป็นทักษะชีวิตต่อยอดถึงทักษะอาชีพในโครงการทหารพันธุ์ดีของกรมการทหารช่าง การสร้างหุ่นยนต์ ความพร้อมเรื่องภาษา วิชาการของ สพฐ. ถ้านักเรียนได้รับโอกาสจากสิ่งดีดีของแต่ละโรงเรียนผ่านความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เด็กจะได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรร่วมมือกันและดำเนินการเป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมนำไปสู่การขยายผลต่อไป

สำหรับโรงเรียนที่มีครูไม่ตรงเอก ไม่ครบชั้น การใช้ DLTV จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนานักเรียน และพัฒนาครูได้ด้วย โดยใช้เป็นสื่อการสอนหรือสื่อเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อเรียนซ้ำ ย้ำทวน หรือต่อยอดการเรียนรู้ได้ สำหรับในกรณีที่ครูตรงเอกแต่ประสบการณ์การสอนยังไม่ดีพอ แต่จะต้องไม่ใช้ DLTV ทดแทนครูผู้สอน และการสอนเด็กเล็กควรเน้นการสอนผ่านกิจกรรม เพื่อให้เกิดพัฒนาการตามช่วงวัย ไม่ควรให้เด็กอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์นานจนเกินความจำเป็น พร้อมกันนั้น การประชาสัมพันธ์การดำเนินการต่างๆ ของโรงเรียน ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและชุมชน โดยโรงเรียนสามารถประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการและช่องทางที่หลากหลาย อาทิ เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่การประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ ผลงานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจากความงอกงามของผู้เรียนในด้านต่างๆ นั่นเอง

“ทั้งนี้ สิ่งที่ประทับใจจากการเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ คือ การบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้ ทรัพยากรหลักสูตร บุคคล และ Best Practice ต่างๆ ที่ทุกหน่วยงานมี จะช่วยให้การพัฒนาการศึกษาทั้งในส่วนของโรงเรียนทหารบกอุปถัมภ์ (โยธินวิทยา) โรงเรียนวัดเขาวัง (แสงช่วงสุวนิช) โรงเรียนอนุบาลราชบุรี และ สพฐ. เกิดขึ้นได้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องขอขอบคุณ ผอ. และรอง ผอ.เขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์ รวมทั้ง ผอ. และบุคลากรของโรงเรียนทั้งสามแห่ง ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพครบมิติ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต รวมทั้งเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสอดคล้องกับนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ ด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว