แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน”

วันที่ 4 ตุลาคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพญาตานี โรงแรมเซาเทิร์นวิว จังหวัดปัตตานี นางสาวสุรางค์ อาจณรงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมปัตตานี เขต 1 กล่าวรายงานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาหลักสูตรการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาหลักสูตรการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการศึกษาหลักสูตรการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” จำนวน 6 โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนพระราชดำริ “ศูนย์ครูใต้” จังหวัดปัตตานี โรงเรียนบ้านโคกโตนด โรงเรียนบ้านควนดิน โรงเรียนบ้านควนคูหา โรงเรียนวัดสถิตชลธาร และโรงเรียนประชาอุทิศบ้านโคกม่วง การประชุมในวันนี้มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ ในอำเภอหนองจิกทุกโรงเรียน จำนวน 84 คน วิทยากรจากพัฒนาการจังหวัดปัตตานี (นายสุริยะ กิติบุญญา) วิทยากรซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อาจารย์ประกอบ มณีโรจน์) เจ้าหน้าที่และคณะทำงาน จำนวน 20 คน รวม 104 คน
โดยนายภิรมย์ จีนธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 เป็นประธานเปิดการประชุม ในครั้งนี้ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อสร้างโอกาสสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเป้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มรูป เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาส และการเข้าถึงโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาในมิติด้านความมั่นคงและพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” เป็นการเตรียมความพร้อมผู้เรียนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีความรู้และทักษะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างยั่งยืนในอนาคต