การประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนางานนิเทศการศึกษา

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนางานนิเทศการศึกษาสำหรับผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.​2566 ของหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมบรรยายพิเศษเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา “สพฐ.วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ พื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมในการขับเคลื่อน” โดยการประชุมจัดขึ้น ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขต บางพลัด กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2566 อีกทั้งได้รับเกียรติจาก ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บรรยายในหัวข้อ จุดเน้นการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเน้นย้ำให้ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมการนิเทศเชิงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้พบปะและให้แนวคิดในการทำงานร่วมกันระหว่างศึกษานิเทศก์กับโรงเรียน หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ของการนิเทศระดับเขตพื้นที่การศึกษา และการพัฒนาเครือข่ายการนิเทศการศึกษา โดยมุ่งเน้นการนำนโยบายและจุดเน้นสู่การปฏิบัติ และยังได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ. ให้แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ภารกิจของผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ กับการนิเทศการศึกษายุคใหม่ เชื่อมโยงภารกิจสู่ความก้าวหน้าในวิชาชีพศึกษานิเทศก์ กิจกรรมในการประชุมประกอบด้วยการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “มุมมองการพัฒนางานนิเทศการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค New Normal”  โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรอง เลขาธิการ กพฐ. ดร.ปรีชา นิพนธ์พิทยา อดีตหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สปจ.นครปฐม อดีตนายกสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย รศ.ดร.อรรณพ จีนะวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช /อดีตศึกษานิเทศก์ หน่วยศึกษานิเทศก์กรมสามัญศึกษา และ ดร.ปาริชาติ เภสัชชา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ สพป.เชียงใหม่เขต 2 ทั้งนี้หน่วยศึกษานิเทศก์ ได้จัดกิจกรรมที่ มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยการกำหนดบทบาทและความร่วมมือในระดับเขตตรวจราชการเพื่อนำนโยบายและจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ สพฐ. 4 ด้าน คือ ด้านโอกาส ด้านความปลอดภัย ด้านคุณภาพ และด้านประสิทธิภาพ ลงสู่การปฏิบัติภายใต้แนวคิด “การนิเทศวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ ใช้พื้นที่เป็นฐาน ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน” โดยเป้าหมายสำคัญ คือ พัฒนาการนิเทศสู่ครูผู้สอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ตัวชี้วัด มีคุณลักษณะและสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตร และมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ต่อไป