วันที่ 16 มกราคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ผู้บริหารระดับสูง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมงานวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality ณ บริเวณสนามหญ้ากระทรวงศึกษาธิการ และหอประชุมคุรุสภา
กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุรุสภา จัดงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality ในรูปแบบผสมผสาน ทั้ง Onsite และ Online กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 16 – 17 มกราคม 2566 โดยจัดพร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน และส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดีหรือทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษา ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นแบบอย่าง ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต” และมอบสารเนื่องในโอกาสวันครู สามารถรับชมทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) เวลา 06.30 น. และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) เวลา 10.33 น.
กิจกรรมงานวันครูเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า มีพิธีทำบุญตักบาตรและถวายข้าวสารพระสงฆ์ ณ บริเสณสนามหญ้าหน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี และจากนั้นเป็นพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ครูผู้วายชนม์ พิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล และพิธีบูชาบูรพาจารย์ ณ หอประชุมคุรุสภา โดยมี นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อ่านโองการอัญเชิญบูรพาจารย์ นายสุภัทร จำปาทอง ครูอาวุโสนอกประจำการ กล่าวนำสวดฉันท์ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และนายมนัส เจียมภูเขียว ครูอาวุโสในประจำการ นำกล่าวคำปฏิญาณตนของครูและบุคลากรทางการศึกษา
จากนั้นพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังหอประชุมคุรุสภาเป็นประธานงานวันครู มีพิธีคารวะครูอาวุโสของนายกรัฐมนตรี สำหรับในปีนี้ ครูนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พลเอก เกษม นภาสวัสดิ์ ครูที่เคยสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และมอบรางวัล จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2566 และรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2565 “ระดับดีเด่น” รวมจำนวน 17 ราย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ว่า ในปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดงานวันครูขึ้น ในหัวข้อ “พลังครู คือหัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality ขึ้น โดยมี ความเชื่อว่า พลังของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์และผู้บริหารการศึกษา คือ หัวใจของการนำการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา ซึ่งรัฐบาลมีความเชื่อว่า การสร้างและพัฒนาคนเพื่ออนาคตของประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องผลักดันให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทย เพื่อให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การศึกษาจึงเป็นหัวใจของชาติในการพัฒนาคน ให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงใหม่ทางสังคมโลก ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นผู้นำการเรียนรู้ กระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน สร้างผู้เรียน ให้เป็นนักคิด นักพัฒนา และมีนิสัยในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
นอกจากนี้ บริบทสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วควบคู่กับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์และผู้บริหารการศึกษา จึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีสมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นลักษณะการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Active Learning) ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิค 19 ด้วย โดยการจัดการเรียนรู้จะพยายามทำให้นักเรียนมีทักษะการคิด ทักษะทางภาษา ซึ่งหมายถึงทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทักษะการทำงานร่วมมือกับผู้อื่น ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้ชีวิตในโลกอนาคต ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ครอบครัว รู้จักรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักการปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และสร้างจิตสำนึกให้มีส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ให้สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังส่งเสริมการสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computing Science) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อทำให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดเชิงคำนวณ เพื่อนำไปสู่การสร้างสมรรถนะใหม่ ๆ ในการทำงานกับหุ่นยนต์ ตลอดจนเครื่องมือดิจิทัลที่จะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความปรารถนาและมุ่งมั่นมากที่สุด การจะยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้ดีขึ้นได้นั้น สิ่งที่จะเป็นคานงัดที่สำคัญ คือ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จะต้องพุ่งเป้าหมายให้ความสำคัญกับเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียนและต้องใช้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง ดังนั้น คุณภาพของครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ครูจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพสูงสุดในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการมีมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้เรียน และสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป
จากนั้น เป็นพิธียกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่ได้รับรางวัลของคุรุสภา จำนวน 9 รางวัล รวมจำนวน 176 ราย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ รางวัลพระพฤหัสบดี ระดับประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จำนวน 9 ราย โดยมี นางสาววรพรรณ จริตธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. กล่าวรายงาน และรางวัลครูดีในดวงใจ ของ สพฐ. จำนวน 237 ราย โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวรายงาน รวมทั้งสิ้น 11 รางวัล 422 ราย โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้มอบ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยี รูปแบบการศึกษาก็ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษายุคดิจิทัล “ครู” จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนด้วย เพราะผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้จากสื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ครูต้องฝึกทักษะให้ผู้เรียนสามารถสังเคราะห์ความรู้ จากข้อมูลข่าวสารที่แสวงหามา และครูยังมีบทบาทในการสรรสร้างช่วยแนะนำและออกแบบกิจกรรม ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น โดยการใช้รูปแบบการศึกษาและนวัตกรรมการสอน ที่มีหลากหลายรูปแบบแยกย่อยออกไปตามคุณลักษณะของผู้เรียน ไปจนถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ การเป็นครูในยุคการศึกษาดิจิทัลนั้น ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนเพียง อย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถของตัวเองในการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจและแก้ปัญหาด้วย เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่า สื่อออนไลน์ ที่ผู้เรียนศึกษามานั้นจะถูกต้องและสร้างสรรค์ ดังนั้น ในบทบาทของการเป็น “ครู” จึงต้องสร้างแหล่งข้อมูลสารสนเทศให้มากขึ้นผ่านเทคโนโลยีเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะได้เข้าใจและทบทวน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ แก้ปัญหา สำหรับการสร้างอนาคตของผู้เรียนต่อไป
สำหรับการสนับสนุนครู นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับโอกาสและสิทธิความก้าวหน้าของคุณครูทุกท่าน เพื่อให้คุณครูพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้เรียนที่อยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และดิฉันเชื่อมั่นในคุณครูทุกท่านว่าจะสามารถบ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป
หลังจากนั้น มีการปาฐกถาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 6 เรื่อง “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality โดย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และการเสวนาพิเศษ เรื่อง “พลังครูสู่การเปลี่ยนแปลง : ความหวัง และความท้าทาย”
สำหรับวันที่ 17 มกราคม 2566 มีพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” จำนวน 688 ราย และการเสวนาพิเศษ เรื่อง “พลังครูสู่การสร้างความเท่าเทียมการจัดกิจกรรมวิชาการ Online บน Platform วันครู ผ่านเว็บไซต์ www.วันครู.com แบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก กิจกรรมก่อนงานวันครู เผยแพร่ Infographic ครูต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ และการเสวนาทางวิชาการ 6 เรื่อง เฟสที่ 2 กิจกรรมงานวันครู ระหว่างวันที่ 16 – 17 มกราคม 2566 ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยภายในหอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จัดให้มีการเสวนาพิเศษ การปาฐกถาพิเศษ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 6 สำหรับ การจัดงานในส่วนภูมิภาค กำหนดให้ทุกจังหวัดเป็นหน่วยจัดงานวันครู พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือให้สถานศึกษาทุกสังกัดในจังหวัด จัดกิจกรรมสัปดาห์วันครู ระหว่างวันที่ 11 – 17 มกราคม 2566 โดยพิจารณาการจัดกิจกรรมตามความเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ และเฟสที่ 3 กิจกรรมหลังงานวันครู จัดให้มีการอบรมหลักสูตรออนไลน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 4 หลักสูตร ผ่านทางเว็บไซต์ www.วันครู.com รวมถึงรับชมนิทรรศการผลงานออนไลน์ของผู้ที่ได้รับรางวัลของคุรุสภาและของหน่วยงานอื่นๆ มากกว่า 100 เรื่อง
ในโอกาสวันครู คุรุสภาขอเชิญชวนทุกท่านที่มีครูร่วมระลึกถึงพระคุณครู กลับไปคารวะครู เข้าร่วมกิจกรรมงาน วันครูกับคุรุสภา ร่วมทำความดี เป็นจิตอาสา และร่วมแชร์ความรู้สึกดี ๆ ต่อครู ใน Facebook FanPage Khurusaphaofficial” และอย่าลืมติด #วันครู2566 #พลังครูคือหัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา รวมถึงร่วมส่งบัตรอวยพรออนไลน์ และดาวน์โหลด Sticker Line Creator” วันครู 2566″ หรือ “Teachers’ Day 2023” ที่ https://line.me/S/sticker/21918411 รายได้จากการจำหน่ายสติ๊กเกอร์จะนำไปสมทบทุนมูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในพระบรมราชูปถัมภ์
ขอขอบคุณข้อมูล : ทีมประชาสัมพันธ์ งานวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566