ศธ. เดินหน้าพัฒนาการสอนประวัติศาสตร์ ส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน

วันที่ 18 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “การสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยมี นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวต้อนรับ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนางสาวนองศิริ โชติรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์และครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ จาก 20 เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 100 คน ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์จาก 225 เขตพื้นที่การศึกษา รวมจำนวนทั้งสิ้น 490 คน

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายและจุดเน้นการพัฒนาวิชาประวัติศาสตร์ เรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่กับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และการเสริมสร้างวิถีของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงร่วมกับศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ สปาฟา) และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการสอนประวัติศาสตร์สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ในระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2566 ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่อให้ครูผู้สอนบุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ได้รับทราบนโยบายการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แนวทางการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ข้อค้นพบใหม่ทางการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายของครูผู้สอนประวัติศาสตร์ โดยมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภูมิหลังการสอนประวัติศาสตร์และแนวทางการถ่ายทอดองค์ความรู้” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ไทยชื่อดังของไทย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วย การบรรยาย การสัมมนาจากวิทยากรที่เป็นนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการชั้นนำของไทย รวมถึงการจัดนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น

“เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายและจุดเน้นการพัฒนาวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเรียนประวัดิศาสตร์โดยการใช้เนื้อหาแบบบูรณาการ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลจากการประชุมสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายขยายพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และโบราณคดี ได้แนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์  รวมทั้งสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ที่จะร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชนไทยต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว